จังหวัดนราธิวาส

ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา
นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ
แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน


ข้อมูลทั่วไป จังหวัดนราธิวาส

บ้านบางนรา หรือ มนารอ เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางนราใกล้กับทะเล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) บ้านบางนราถูกจัดอยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี ครั้นต่อมาเมื่อปัตตานีได้รับการยกฐานะเป็นมณฑล บ้านบางนราจึงย้ายมาสังกัดเมืองระแงะที่อยู่ในมณฑลปัตตานี กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) บ้านบางนราได้เจริญเป็นชุมชนใหญ่ มีการค้าทั้งทางบกและทะเลคึกคักมาก จึงได้ย้ายที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมนารอ และพ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เสด็จพระราชดำเนินมาถึงบางนรา และได้พระราชทานชื่อ “นราธิวาส” แปลว่า “ที่อยู่ของคนดี”
ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT-GT Growth Triangle Development Project) มีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเมืองชายแดนอยู่ที่อำเภอสุไหงโกลก ที่ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์มาเที่ยวพักผ่อนและซื้อสินค้ารวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีการถ่ายเทวัฒนธรรมรวมทั้งสินค้านำเข้า ส่งออกซึ่งกันและกัน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีภาษามลายูเป็นภาษาพูด ภาษาเขียนที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ใช้พยัญชนะอาหรับ และพยัญชนะอังกฤษ แต่สะกดอ่านเป็นภาษามลายู
จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ทั้งหมด ๔,๔๗๕.๔๓ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของแหลมมลายู สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาประมาณ ๒/๓ ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่ติดกับบริเวณอ่าวไทยซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ๔ สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน ช่วงที่ฝนตกมากที่สุด คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดปัตตานีและอ่าวไทย
ทิศใต้ ติดกับรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวไทยและประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดยะลา
การเดินทาง
จังหวัดนราธิวาส การเดินทางสามารถไปได้สะดวกทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน
รถยนต์ ระยะทาง ๑,๑๔๙ กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข ๔ ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และทางหลวงหมายเลข ๔๑ ผ่านทุ่งสง-พัทลุง-หาดใหญ่ และต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๔๒ เข้าสู่จังหวัดปัตตานี-นราธิวาส สอบถามเส้นทางและแจ้งเหตุตำรวจทางหลวง โทร. ๑๑๙๓
• รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด บริการรถกรุงเทพฯ-นราธิวาส-สุไหงโกลก ทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๓–๒๐๐, ๐ ๒๔๓๔ ๗๑๙๒ (ปรับอากาศ) ๐ ๒๔๓๔ ๕๕๕๗-๘ (ธรรมดา) สถานีขนส่งนราธิวาส โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๘๔๕ สถานีขนส่งสุไหงโกลก โทร. ๐ ๗๓๖๑ ๒๐๔๕ หรือ www.transport.co.th
รถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการเดินรถไฟระหว่าง กรุงเทพฯ – ตันหยงมัส (นราธิวาส) - สุไหงโกลก ทุกวันทั้งรถด่วนและรถเร็ว สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๒๐, ๑๖๙๐ สถานีรถไฟสุไหงโกลก โทร. ๐ ๗๓๖๑ ๑๑๖๒, ๐ ๗๓๖๑ ๔๐๖๐ หรือ www.railway.co.th
เครื่องบินบริษัท แอร์ เอเชีย บริการเครื่องบิน กรุงเทพฯ-นราธิวาสทุกวัน จันทร์,พุธและศุกร์ ออกจากกรุงเทพฯ เวลา ๐๖.๓๕น. ออกจากนราธิวาส เวลา ๐๘.๓๕น. สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐ สาขานราธิวาส โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๑๖๑, ๐ ๗๓๕๑ ๓๐๙๐
การเดินทางในตัวจังหวัด
- จากสนามบินมีรถตู้ไปสุไหงโกลก ๑๔๐ บาท ด่านตาบา ๑๔๐ บาท นราธิวาส ๕๐ บาท
- รถโดยสารประจำเส้นทางต่างๆ มักจะแวะมารับผู้โดยสารบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ เวลาบริการประมาณ ๐๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.
บริเวณแยกหอนาฬิกา เป็นท่าจอดรถตู้วิ่งบริการสาย นราธิวาส-สุไหงโกลก, นราธิวาส-ตากใบ ออกทุกครึ่งชั่วโมง วิ่งบริการระหว่างเวลา ๐๕.๐๐–๑๗.๐๐ น. โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๕๒๐ และ นราธิวาส-หาดใหญ่ ออกทุกๆชั่วโมง โทร. ๐ ๗๓๕๒ ๒๐๙๓
ระยะทางจากจังหวัดนราธิวาสไปยังจังหวัดใกล้เคียง
ปัตตานี ๑๐๐ กิโลเมตร
ยะลา ๑๒๘ กิโลเมตร
สงขลา ๑๙๔ กิโลเมตร
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
ยี่งอ ๑๘ กิโลเมตร
ระแงะ ๒๔ กิโลเมตร
บาเจาะ ๒๘ กิโลเมตร
เจาะไอร้อง ๓๑ กิโลเมตร
ตากใบ ๓๓ กิโลเมตร
จะแนะ ๔๗ กิโลเมตร
รือเสาะ ๔๘ กิโลเมตร
สุไหงปาดี ๔๙ กิโลเมตร
สุไหงโกลก ๖๓ กิโลเมตร
ศรีสาคร ๖๕ กิโลเมตร
แว้ง ๘๓ กิโลเมตร
สุคิริน ๑๑๒ กิโลเมตร

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ
ศาลากลางจังหวัด โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๐๒๔, ๐ ๗๓๕๑ ๑๔๕๐
ที่ว่าการอำเภอเมือง โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๐๑๒
สถานีตำรวจภูธร โทร. ๑๙๑, ๐ ๗๓๕๑ ๑๒๓๖
สำนักงานเทศบาลเมือง โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๐๔๘, ๐ ๗๓๕๑ ๓๑๓๐, ๐ ๗๓๕๑ ๒๔๓๑
ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๑๐๙๓
สำนักงานบริการโทรศัพท์ โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๒๐๐๐
โรงพยาบาลเมืองนราธิวาส โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๓๔๘๐
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. ๑๑๕๕
ตำรวจทางหลวง โทร. ๑๑๙๓

แผนที่จังหวัดนราธิวาส


แผนที่ตัวเมืองนราธิวาส


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ชายหาดนราทัศน์ เป็น หาดทรายขาวสะอาดยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ไปสิ้นสุดที่ปลายแหลมด้านปากแม่น้ำบางนราซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน เรือกอและที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แนวสนทำให้บรรยากาศริมทะเลร่มรื่นมากขึ้น ชาวบ้านนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจกันที่นี่ ใกล้ๆกันมีหมู่บ้านชาวประมงตั้งกระจัดกระจายตามริมแม่น้ำบางนรา และบริเวณเวิ้งอ่าวมีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่มากมาย
อยู่เลยจากตัวเมืองนราธิวาสไปตามถนนสายพิชิตบำรุง ประมาณ ๑ กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถจักรยานยนต์ รถสามล้อถีบหรือรถสองแถวเล็กจากตัวเมืองนราธิวาสไปยังหาดนราทัศน์ได้สะดวก
มัสยิดกลาง (เก่า) มัสยิด กลางหลังเก่านี้ มีชื่อว่า มัสยิดยุมอียะห์ หรือมัสยิดรายอ ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมืองห่างจากศาลากลางจังหวัดขึ้นไปตามถนนพิชิตบำรุง ก่อนถึงหอนาฬิกาเล็กน้อย เป็นมัสยิดไม้แบบสุมาตราสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นมัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนราธิวาส และเป็นที่ตั้งของสุสานเจ้าเมืองเก่า คือ พระยาภูผาภักดี ตามปกติมัสยิดกลางประจำจังหวัดจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากมัสยิดแห่งนี้ค่อนข้างคับแคบ จึงได้มีการสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นบริเวณปากแม่น้ำบางนรา อย่างไรก็ตามประชาชนในพื้นที่ยังคงเลื่อมใสศรัทธาในมัสยิดหลังเก่าอยู่ มัสยิดแห่งนี้จึงดำรงฐานะเป็นมัสยิดกลางสืบต่อไป และทำให้นราธิวาสมีมัสยิดกลางประจำจังหวัดด้วยกันถึง ๒ แห่ง
มัสยิดกลาง (ใหม่) ตั้งอยู่ที่บ้านบางนรา ก่อนถึงหาดนราทัศน์ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม มัสยิดกลางนราธิวาสนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดแห่งที่ ๒ สร้างเป็นอาคาร ๓ ชั้น แบบอาหรับ ชั้นล่างจะเป็นห้องประชุมใหญ่ ห้องทำละหมาดอยู่ ๒ ชั้นบน ยอดเป็นโดมขนาดใหญ่ มีหอสูงสำหรับส่งสัญญาณอาซานเรียกชาวมุสลิมเข้ามาละหมาด
พุทธอุทยานเขากง (วัด เขากง-พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล) มีเนื้อที่ ๑๔๒ ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลลำภู จากตัวเมืองใช้เส้นทางนราธิวาส-ระแงะ (ทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๕) ประมาณ ๙ กิโลเมตร จะมองเห็นวัดเขากง และพระพุทธรูปทักษิณมิ่งมงคลสีทองปางปฐมเทศนาขัดสมาธิเพชรอยู่บนยอดเขา เป็นศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ องค์พระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกสีทอง หน้าตักกว้าง ๑๗ เมตร ความสูงวัดจากพระเกศบัวตูมถึงบัวใต้พระเพลา ๒๔ เมตร จัดเป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งที่งดงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้
เนินเขาลูกถัดไปมีเจดีย์สิริมหามายาซึ่งเป็นทรงระฆัง เหนือซุ้มประตูทั้ง ๔ ทิศมีเจดีย์รายประดับอยู่ ภายในประดิษฐานพระพรหม บนยอดสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เนินเขาถัดไปอีกลูกหนึ่งเป็นที่ตั้งของอุโบสถ ผนังด้านนอกทั้งสี่ด้านประดับกระเบื้องดินเผาแกะสลัก ด้านหลังเป็นรูปช้างหมอบถวายดอกบัว หน้าบันเป็นรูปนักรบมีเทวดาถือคนโทถวาย
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนเขาตันหยงมัส ตำบลกะลุวอเหนือ ด้านริมทะเลใกล้กับอ่าวมะนาว ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาสตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๘๔ (นราธิวาส-ตากใบ) เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙)โปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ภายในเขตพระราชฐานประกอบด้วย พระตำหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และของพระบรมวงศานุวงศ์ ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดทำให้มีบรรยากาศร่มรื่น ยังมีศูนย์ศิลปาชีพ ซึ่งเป็นแหล่งฝึกงานพร้อมทั้งจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิก
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวันระหว่างเวลา ๘.๓๐–๑๖.๓๐ น. เว้นเฉพาะช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมเท่านั้น ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม
การเดินทาง สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางเส้นที่ไปอำเภอตากใบ และลงที่หน้าพระตำหนักได้เลย
อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง ตั้ง อยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลกะลุวอเหนือ ตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๔ (นราธิวาส-ตากใบ) ประมาณ ๓ กิโลเมตร และมีทางแยกไปสู่หาดอีก ๓ กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ยาวต่อเนื่องจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดปัตตานี เป็นโค้งอ่าวเชื่อมต่อกัน ยาวประมาณ ๔ กิโลเมตร มีโขดหินคั่นสลับโค้งหาดเป็นระยะ ด้านหนึ่งติดพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บริเวณริมหาดมีสวนรุกขชาติ และทิวสนร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายหาด (beach forest) ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบจะเป็นไม้ที่ชอบความแห้งแล้ง เช่น จักทะเล มะนาวผี เตยทะเล (ผลมีหน้าตาคล้ายสับปะรด) เป็นต้น หากใครอยากพักค้างคืนมีบ้านพักของเอกชนในบริเวณใกล้เคียงให้บริการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะเป็นแหล่งรวมการศึกษา สาขาวิชาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ดินทำกินแก่ราษฎรในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ คือ วิเคราะห์ ทดลอง ทดสอบการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ให้ข้อมูลวิชาการ และฝึกอบรมการเกษตร เนื้อที่ศูนย์ทั้งหมด ๑,๗๔๐ ไร่ ถูกแบ่งเป็น อาคารสำนักงาน แปลงสาธิต และแปลงวิจัยทดลองในพื้นที่ป่าพรุ โครงการในพระราชดำริ เช่น โครงการแกล้งดิน คือการทดลองทำให้ดินในนาข้าวเปรี้ยวที่สุด และหาวิธีแก้ไข เพื่อที่จะนำไปปรับใช้กับดินเปรี้ยวในพื้นที่ต่างๆได้ทุกที่ โครงการอื่นๆของศูนย์ เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่นี้ซึ่งมีน้ำมากพออยู่แล้ว การทดลองปลูกปาล์มน้ำมันที่ขึ้นในดินอินทรีย์จัด โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กครบวงจร ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เข้ามาดูแลผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เช่น น้ำมันที่สกัดได้จากปาล์ม สบู่ เนย ส่วนหนึ่งขายให้คนงาน และส่วนหนึ่งจำหน่ายภายนอก โรงงานปศุสัตว์ทำบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลวัว การทดลองนำระกำหวานมาปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา เป็นต้น
ไม่ใช่เฉพาะงานทางด้านเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวทางศูนย์ยังเปิดศูนย์ฝึกอบรม งานหัตถกรรมจากกระจูดและใบปาหนันในวันเวลาราชการ
การมาศึกษาหาความรู้ที่นี่ยังได้ความเพลิดเพลินไปด้วย ดังพระราชดำริที่จะให้การมาดูงานที่นี่เหมือนการมาพักผ่อนหย่อนใจในสวน สาธารณะ ทั้งนี้มีนิทรรศการของศูนย์ฯจัดทุกเดือนกันยายน ซึ่งตรงกับเทศกาลของดีเมืองนราพอดี
การเดินทาง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทองและบ้านโคกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ ห่างจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประมาณ ๑ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองนราธิวาสตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๘๔ นราธิวาส-ตากใบ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๗๓๕๔ ๒๐๖๒-๓
หมู่บ้านยะกัง เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งนราธิวาสยังเป็นหมู่บ้านบางนรา ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตผ้าปาเต๊ะ หรือผ้าบาติก ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามทางหลวงสาย ๔๐๕๕ (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ) ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร เลี้ยวเข้าถนนยะกัง ๑ ซอย ๖ ประมาณ ๗๐๐ เมตร
หมู่บ้านทอน ตั้ง อยู่ที่ตำบลโคกเตียน ห่างจากตัวเมืองตามเส้นทางนราธิวาส-บ้านทอน (ทางหลวง ๔๑๓๖) ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิม เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งของจริงและจำลอง เรือกอและจำลองมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่น แต่คุณค่าไม่ได้อยู่แค่นั้น เพราะคนที่ทำนั้นบางคนเป็นเด็กมีตั้งแต่อายุ ๑๓ ปีขึ้นไป เด็กบางคนในหมู่บ้านจะใช้เวลาว่างมานั่งหัดทำเรือกอและ ศิลปะพื้นบ้านของพวกเขาเอง นอกจากเรือท่านอาจจะได้ความอิ่มใจกลับไปด้วยหากได้เห็นความสนอกสนใจของพวก เขาที่มีต่องานศิลปะเช่นนี้
นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์จากกระจูดและใบปาหนัน เช่นซองใส่แว่น กระเป๋า ไปจนถึงเสื่อที่มีลวดลายและสีสันสวยงามลงตัว หากรักษาดีๆ จะมีอายุการใช้งานถึง ๑๐ ปี ระดับราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่แพงนักตั้งแต่ ๓๐ บาท ไปจนถึงหลักร้อย
และที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำบูดู และข้าวเกรียบปลาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย ตลอดแนวหาดจะเห็นแผงตากปลาเรียงรายอยู่ มีตุ่มซีเมนต์ใส่บูดูจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาชมวิธีการผลิตและซื้อของฝากได้ทุกวันแต่ปกติในบ่ายวันศุกร์ชาวบ้านมักจะไปทำละหมาดและพักผ่อน ซึ่งไม่สะดวกนักหากจะแวะมาเวลานี้
เรือกอและ เป็น เรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเป็นเรือลำใหญ่ มีความยาว ๒๕, ๒๒ และ ๒๐ ศอก ลักษณะการสร้างเรือจะทำให้ส่วนหัวและท้ายเรือสูงขึ้นจากลำเรืออันเป็น เอกลักษณ์มาช้านาน ลวดลายบนลำเรือกอและเป็นการผสมผสานระหว่างลายมลายู ลายชวาและลายไทยโดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มากที่สุดเช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหิรเวหา รวมทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น “บุหรงซีงอ” หรือ สิงหปักษี (ตัวเป็นสิงห์ หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลาไว้ที่หัวเรือ) เชื่อกันว่ามีเขี้ยวเล็บและมีฤทธิ์เดชมาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่บุร่ำบุราณ งานศิลปะบนลำเรือเสมือน “วิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น” และเป็นศิลปะเพื่อชีวิตเพราะเรือกอและมิได้อวดความอลังการของลวดลายเพียง อย่างเดียว ทว่ายังเป็นเครื่องมือในการจับปลาเลี้ยงชีพชาวประมงด้วย กล่าวกันว่าลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและหาปลาก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอตากใบ : อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

อำเภอตากใบ
วัดชลธาราสิงเห ตั้ง อยู่หมู่ ๓ ตำบลเจ๊ะเห ริมฝั่งแม่น้ำตากใบ จากตัวเมืองออกไปตามเส้นทางสาย นราธิวาส-ตากใบ (ทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๕) ถึงสี่แยกตลาดอำเภอตากใบแล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร จะถึงปากทางเข้าวัด ท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดนี้ขึ้นและต้องไปขอที่ดินจากพระยากลันตันเพื่อที่จะ สร้างวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ สมัยนั้นดินแดนตากใบยังเป็นของรัฐกลันตันอยู่
วัดนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับกรณีแบ่งแยกดินแดนตากใบประเทศสยามกับประเทศมลายู ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษในขณะนั้น (สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๒) โดยฝ่ายไทยได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัดและศิลปะในวัด เป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน อังกฤษจึงยอมรับเหตุผล โดยให้นำเอาแม่น้ำโกลกตรงบริเวณที่ไหลผ่านเมืองตากใบ (แม่น้ำตากใบ) เป็นเส้นแบ่งเขตแดน วัดนี้จึงรู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” บรรยากาศโดยทั่วไปในวัดชลธาราสิงเหนั้นเงียบสงบ และมีลานกว้างริมแม่น้ำที่จะมานั่งพักจิตใจได้ ส่วนภายในโบสถ์ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวนั้น มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นไว้เด่น ชัดและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปิดทองทั้งองค์ทำให้ไม่เห็นลักษณะเดิมที่พระ โอษฐ์เป็นสีแดง พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบสูงประมาณ ๑.๕ เมตร จากลักษณะบุษบกสันนิษฐานว่าเป็นพระมอญ มีวิหารประดิษฐานพระนอน ซึ่งตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยสังคโลกเก่าแก่
การเดินทาง สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางเส้นที่จะไปอำเภอตากใบ มีทั้งรถสองแถว(ค่าโดยสารประมาณ ๒๐ บาท) รถตู้(ค่าโดยสารประมาณ ๓๐ บาท ขึ้นที่วงเวียนในอำเภอเมือง) และรถบัส ลงที่แยกอำเภอตากใบ และเดินไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร แต่รถตู้จะเข้าไปส่งถึงวัด
เกาะยาว ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดชลธาราสิงเห จากสี่แยกตลาดอำเภอตากใบเลยไปยังแม่น้ำตากใบ มีสะพานไม้ชื่อ “สะพานคอย ๑๐๐ ปี” ยาว ๓๔๕ เมตร ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ซึ่งทางด้านตะวันออกของเกาะจะติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาล บรรยากาศสงบงาม ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมประกอบอาชีพประมงและสวนมะพร้าว
ชายหาดกูบู-บ้านคลองตัน ครอบคลุมตำบลไทรวัน และตำบลศาลาใหม่ ทอดยาวไปจนถึงตำบลเจ๊ะเห มาสุดที่ปากแม่น้ำสุไหงโกลกชายแดนไทย ความยาวโดยประมาณ ๒๕ กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข ๔๐๘๔ (นราธิวาส-ตากใบ) ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จะมีถนนถึงชายหาดระยะทาง ๑ กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีทิวทัศน์สวยงาม หาดทรายขาวสะอาด มีต้นสนขึ้นเป็นระยะๆ ร่มรื่นและเงียบสงบ
ด่านตาบา (ด่านตากใบ) ตั้งอยู่ที่บ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเห อยู่ห่างจากตัวอำเภอตากใบราว ๓ กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข ๔๐๘๔ (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ) เป็นช่องทางการท่องเที่ยวและค้าขายระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย อีกแห่งหนึ่งนอกจากด่านสุไหงโกลก
ผู้ที่จะข้ามไปซื้อของที่ร้านค้าปลอดภาษี ด่านศุลกากรเพนกาลันกูโป ของประเทศมาเลเซีย สามารถข้ามไปได้เลยแบบเช้าไป-เย็นกลับ แต่หากจะข้ามไปนานกว่านั้น สามารถขอใบผ่านแดน แบบ ๓ เดือน เข้า-ออกครั้งเดียวได้ โดยต้องเตรียมคำร้องจากสำนักงานอำเภอที่ตัวเองมีชื่อในทะเบียนบ้านไปยื่นที่ สำนักงานอำเภอตากใบ สอบถาม โทร. ๐ ๗๓๕๘ ๑๒๓๙, ๐ ๗๓๕๘ ๑๔๔๔
การข้ามฟากสามารถข้ามไปโดยเรือหางยาว หรือแพขนานยนต์ก็ได้ (จะอยู่กันคนละท่า) ออกทุก ๑๕ นาที วิ่งระหว่างเวลา ๖.๓๐–๑๗.๑๕ น. ค่าโดยสารคนละ ๗ บาท เท่ากันทุกท่า จักรยานยนต์ ๑๕ บาท รถ ๔ ล้อ ๕๐ บาท รถบัส ๑๐๐ บาท การนำรถยนต์เข้าไปถ้าจะไปไกลกว่าด่านศุลกากรจะต้องทำประกันรถยนต์สำหรับวิ่ง ในประเทศมาเลเซียก่อน และมีข้อกำหนดว่าต้องเป็นรถที่ติดฟิล์มไม่เกิน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และมีเข็มขัดนิรภัย เพราะฝั่งมาเลเซียเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยรถยนต์ มีบริษัทรับทำประกันรถยนต์ทั้งฝั่งไทยและฝั่งมาเลย์ ที่ฝั่งไทยทำได้สะดวกเพราะมีหลายบริษัท ค่าประกันประมาณ ๖๐๐–๗๐๐ บาท ระยะเวลาประกัน มีหลายแบบตั้งแต่ ๙ วัน – ๑ ปี

อำเภอสุไหงโกล
ด่านสุไหงโกลก ตัวเมืองสุไหงโกลก ดูจะคึกคักกว่าตัวเมืองนราธิวาส คงเพราะเป็นด่านการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด และยังเดินทางข้ามไปมาได้สะดวกทั้งคนไทยและคนมาเลย์ มีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศ เปิดตั้งแต่ ๐๕.๐๐–๒๑.๐๐ น. ชาวไทยมักข้ามไปยังฝั่งรันตูปันยัง เพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ของกินเล่น ส่วนคนมาเลย์จะข้ามมาซื้ออาหาร และผลไม้
ด่านสุไหงโกลก อยู่ห่างจากสถานีรถไฟสุไหงโกลก ประมาณ ๑ กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองนราธิวาสสามารถเดินทางไปยังอำเภอสุไหงโกลกได้ ๒ เส้นทาง คือ จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๕ (นราธิวาส-ระแงะ) แล้วแยกซ้ายที่บ้านมะนังตายอ ไปตามเส้นทางหมายเลข ๔๐๕๖ ผ่านอำเภอสุไหงปาดี เข้าสู่อำเภอสุไหงโกลก หรืออาจใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๔ จากตัวเมืองนราธิวาสไปยังอำเภอตากใบ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข ๔๐๕๗ (ตากใบ-สุไหงโกลก) เป็นระยะทาง ๖๖ กิโลเมตร
จากด่านสุไหงโกลก สามารถขับรถข้ามสะพานเข้าไปเที่ยวเมืองโกตา บาห์รูของมาเลเซียได้ แต่รถที่จะเข้าไปต้องทำประกันรถยนต์ (รายละเอียดดูที่ด่านตาบา) การขอใบผ่านแดนสอบถาม โทร. ๐ ๗๓๖๑ ๑๒๓๑
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนเจริญเขต ในเขตเทศบาลตำบลสุไหงโกลก เดิมทีเจ้าแม่โต๊ะโมะนี้ประดิษฐานอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน ต่อมาชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอสุไหงโกลก เป็นที่นับถือของชาวสุไหงโกลก และชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวจีนในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมากทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่บริเวณศาลเจ้า ตรงกับวันที่ ๒๓ เดือนสามของจีน (ประมาณเดือนเมษายน) ในงานจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น มีการจัดขบวนแห่เจ้าแม่ ขบวนสิงโต ขบวนเอ็งกอ ขบวนกลองยาว และยังมีการลุยไฟด้วย
ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่า พรุโต๊ะแดง) ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุแห่งสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งคลุมพื้นที่ของ ๓ อำเภอ คือ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอสุไหงปาดี มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ แต่ส่วนที่สมบูรณ์โดยประมาณมีเพียง ๕๐,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าและพรรณไม้ พื้นที่ป่าพรุมีลำน้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน คือ คลองสุไหงปาดี แม่น้ำบางนรา และคลองโต๊ะแดง อันเป็นที่มาของชื่อป่า ภายในศูนย์ฯ ได้จัดให้มีทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าพรุ เริ่มที่บึงน้ำด้านหลังอาคารศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรเป็น สะพานไม้ต่อลัดเลาะเข้าไปในป่าพรุ ระยะทาง ๑,๒๐๐ เมตร บางช่วงเป็นสะพานไม้ร้อยลวดสลิง บางช่วงเป็นหอสูงสำหรับมองทิวทัศน์เบื้องล่างที่ชอุ่มไปด้วยไม้นานาพรรณใน ป่าพรุ จะมีป้ายชื่อต้นไม้ที่น่าสนใจ และซุ้มความรู้อยู่เป็นจุดๆ สำหรับให้ความรู้แก่ผู้เดินชมด้วย เปิดทุกวันเวลา ๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ไม่เสียค่าเข้าชม และยังมีห้องจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่คนที่มาเที่ยวชมอีกด้วย
ป่าพรุ หรือ peat swamp forest เกิดขึ้นได้อย่างไร ? คำตอบคือ เกิดจากแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันชั่วนาตาปี และมีการสะสมของชั้นดินอินทรียวัตถุ ก็คือซากพืช ซากต้นไม้ ใบไม้ จนย่อยสลายอย่างช้าๆ กลายเป็นดินพีท (peat) หรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำมีความหนาแน่นน้อยอุ้มน้ำได้มาก และพบว่ามีการสะสมระหว่างดินพีท กับดินตะกอนทะเล สลับชั้นกัน ๒-๓ ชั้น เนื่องจากน้ำทะเลเคยมีระดับสูงขึ้นจนท่วมป่าพรุ เกิดการสะสมของตะกอน น้ำทะเลถูกขังอยู่ด้านใน พันธุ์ไม้ในป่าพรุตายไปและเกิดป่าชายเลนขึ้นแทนที่ เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงและมีฝนตกลงมาสะสมน้ำที่ขังอยู่จึงจืดลง และเกิดป่าพรุขึ้นอีกครั้ง ดินพรุชั้นล่างมีอายุถึง ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ ปี ส่วนดินพรุชั้นบนอยู่ระหว่าง ๗๐๐-๑,๐๐๐ ปี
ระบบนิเวศน์ในป่าพรุนั้นมีหลากหลาย ทุกชีวิตล้วนเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ไม้ยืนต้นจะมีระบบรากแขนงแข็งแรงแผ่ออกไปเกาะเกี่ยวกันเพื่อจะได้ช่วยพยุงลำต้นของกันและกันให้ทรงตัวอยู่ได้ ฉะนั้นต้นไม้ในป่าพรุจึงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากต้นใดล้ม ต้นอื่นจะล้มตามไปด้วย
พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุมีกว่า ๔๐๐ ชนิด บางอย่างนำมารับประทานได้ เช่น หลุมพี ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลปาล์ม มีลักษณะต้นและใบคล้ายปาล์ม แต่มีหนามแหลมอยู่ตลอดก้าน ผลมีลักษณะคล้ายระกำ แต่จะเล็กกว่า รสชาติออกเปรี้ยว ชาวบ้านนำมาดองและส่งขายฝั่งมาเลเซีย ซึ่งคนมาเลย์จะนิยมมาก ฤดูเก็บจะอยู่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-มีนาคม ถ้าเป็นช่วงอื่นจะหายากและราคาสูง บางอย่างเป็นพืชพรรณในเขตมาเลเซีย เช่น หมากแดง ซึ่งมีลำต้นสีแดง เป็นปาล์มชั้นดีมีราคา มีผู้นิยมนำไปเพาะเพื่อประดับสวน เพราะความสวยของกาบและใบ ลำต้นมีสีแดงดังชื่อ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่น่าสนใจ เช่น ปาหนันช้าง พืชในวงศ์กระดังงาที่มีดอกใหญ่และ กล้วยไม้กับพืชเล็กๆ ซึ่งจะต้องสังเกตดีๆ จึงจะได้เห็น
สัตว์ป่าที่พบกว่า ๒๐๐ ชนิด เช่น ค่าง ชะมด หมูป่า หมีขอ แมวป่าหัวแบน(ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองที่หายากอีกชนิดหนึ่งของไทย) หนูสิงคโปร์ พบค่อนข้างยากในคาบสมุทรมลายูแต่ชุกชุมมากบนเกาะสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยพบชุกชุมในป่าพรุโต๊ะแดงนี้เท่านั้น และหากป่าพรุถูกทำลายหนูเหล่านี้อาจออกไปทำลายผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่โดย รอบได้ พันธุ์ปลาที่พบ ได้แก่ ปลาปากยื่น เป็นปลาชนิดใหม่ของโลกพบที่ป่าพรุสิรินธรนี้เท่านั้น ปลาดุกรำพัน ที่มีรูปร่างคล้ายงู ซึ่งอาจพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจที่ใช้เลี้ยงในแหล่งที่มีปัญหาน้ำเปรี้ยวได้ ปลากะแมะ รูปร่างประหลาดมีหัวแบนๆกว้างๆ และลำตัวค่อยๆยาวเรียวไปจนถึงหาง มีเงี่ยงพิษอยู่ที่ครีบหลัง ปลาเหล่านี้จะอาศัยป่าพรุเป็นพื้นที่หลบภัยและวางไข่ ก่อนที่จะแพร่ลูกหลานออกไปให้ชาวบ้านได้อาศัยเป็นเครื่องยังชีพ นกที่นี่มีหลายชนิด แต่ที่เด่นๆ ได้แก่ นกกางเขนดงหางแดง มีมากในเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบครั้งแรกที่นี่เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๐ นกจับแมลงสีฟ้ามาเลเซีย ซึ่งในประเทศไทยจะพบที่ป่าพรุสิรินธรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และปัจจุบันนกทั้งสองชนิดอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ ความน่าสนใจของป่าพรุไม่ใช่เพียงแต่ พรรณไม้แปลกๆ สัตว์ป่าหายาก แต่คนที่ไปเที่ยวโดยเฉพาะเด็กๆจะได้ประสบการณ์ชีวิตกลับไปมากมาย จากธรรมชาติรอบตัวบางทีหากเดินชมธรรมชาติเงียบๆอาจจะได้พบสัตว์ป่ากำลังหา อาหารอยู่ก็เป็นได้ เส้นทางนี้นำเราเข้าไปหาธรรมชาติอย่างใกล้ชิดแต่ก็ไม่ได้นำเราเข้าไปล่วง เกินธรรมชาติมากนัก หากนำคู่มือดูนก สมุดบันทึก ดินสอสี กล้องส่องตา กล้องถ่ายรูป และยาทากันยุงไปด้วย อาจจะเพลิดเพลินจนใช้เวลาในนี้ได้ทั้งวัน อากาศสดชื่นเย็นสบายในป่าพรุก็ยังทำให้คนที่เข้าไปเยือนรู้สึกสดชื่นประทับ ใจ แต่ช่วงเวลาที่มาท่องเที่ยวได้สะดวกคือ กุมภาพันธ์-เมษายน เพราะฝนจะตกน้อยที่สุด เนื่องจากป่าพรุมีภูมิอากาศแบบคาบสมุทร ฉะนั้นจึงมีฝนตกชุกตลอดปี สิ่งที่ต้องให้ความระมัดระวังก็คือ ยุงดำ สัตว์กินเลือด พาหะนำโรคเท้าช้าง ซึ่งจะมีอยู่ชุกชุมและออกหาอาหารในช่วงเวลาค่ำ และ ไฟป่า ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการสูบบุหรี่ โดยเผลอทิ้งก้นบุหรี่ลงไป เมื่อป่าพรุเกิดไฟป่าแล้วจะดับยากมากกว่าป่าชนิดอื่น เนื่องจากเชื้อเพลิงไม่ได้มีแค่ต้นไม้ในป่า แต่รวมไปถึงซากไม้ และต้นไม้ที่ทับถมกันในชั้นดินพรุ จึงเป็นไฟที่ลุกลามลงไปใต้ดิน ทำให้การควบคุมหรือดับไฟลำบาก ไฟจะคุกรุ่นกินเวลานับเดือนๆ ต้องรอจนกว่าจะมีฝนตกชุก น้ำท่วมผิวดินไฟจึงจะดับสนิท
การเดินทาง หากเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯจะค่อนข้างสะดวกกว่า เพราะสถานีปลายทางอยู่ที่อำเภอสุไหงโกลก หากมิได้นำรถมาเองสามารถใช้บริการรถรับจ้างจากตัวเมืองสุไหงโกลกได้โดยสะดวก ทางรถยนต์จากอำเภอตากใบใช้เส้นทางตากใบ - สุไหงโกลก (ทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๗) ประมาณ ๕ กิโลเมตร จะมีทางแยกเล็กๆ เข้าสู่ถนนชวนะนันท์ เข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๒ กิโลเมตร มีป้ายบอกทางเข้าสู่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรเป็นระยะ สอบถามรายละเอียดที่ ตู้ปณ. ๓๗ อำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส ๙๖๑๒๐

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอสุไหงปาดี : อำเภอบาเจาะ : อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

อำเภอสุไหงปาดี
น้ำตกฉัตรวาริน อยู่ที่ตำบลโต๊ะเด็ง ไม่ไกลจากตัวเมือง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๖ ถึง
โรงพยาบาลสุไหงปาดีแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีก ๖ กิโลเมตร ทางเข้าลาดยางตลอด อยู่ในพื้นที่อุทยาน
แห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำตลอดทั้งปี สภาพแวดล้อมร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด
มีตำนานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า ที่น้ำตกแห่งนี้ในครั้งโบราณ วันดีคืนดีมักได้ยินดนตรีมะโย่งแว่วดังมาจากน้ำตกเสมอ ๆ เมื่อชาวบ้านพากันไปดูมาก ๆ ก็ไม่พบเห็นสิ่งใดเลย กระทั่งผู้เฒ่าคนหนึ่งชื่อ “โต๊ะเด็ง” แอบขึ้นไปดูขณะที่มีเสียงดนตรี ก็เห็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งออกมาร่ายรำทำนองมะโย่ง โดยมีร่มขนาดใหญ่หรือฉัตรกางอยู่ แล้วก็หายวับไป จากเรื่องที่พบเห็นนี้ ชาวบ้านจึงนำมาตั้งเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “ไอปายง” หรือน้ำตกฉัตร แปลว่าน้ำตกกางร่ม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐–๒๕๑๑ อำเภอได้ทำการปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้น จึงตั้งชื่อน้ำตกแห่งนี้เป็นทางการจากความหมายเดิมว่า “น้ำตกฉัตรวาริน”
พันธุ์ไม้เด่นของที่นี่คือ ปาล์มบังสูรย์ ซึ่งเป็นไม้หายากพบในบริเวณป่าลึกที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย ลักษณะเป็นไม้ลำต้นเตี้ยๆ แต่แตกก้านออกเป็นกอใหญ่ สูงท่วมหัว สามารถสูงได้ถึง ๓ เมตร ใบแผ่กว้างทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีเส้นใบเรียงกันเป็นระเบียบสวยงาม ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นปาล์มที่สวยงามที่สุด ซึ่งจะพบในป่าแถบนี้เท่านั้น ชื่อ “ปาล์มบังสูรย์” ตั้งโดยศาสตราจารย์ประชิด วามานนท์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ เมื่อครั้งท่านเดินทางมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ ได้พบปาล์มชนิดนี้ปลูกอยู่ในหมู่บ้านมุสลิม ศาสตราจารย์ประชิดเห็นว่าใบของปาล์มชนิดนี้มีลักษณะคล้าย “บังสูรย์” เครื่องสูงที่ใช้บังแดดในพิธีแห่จึงนำมาตั้งเป็นชื่อปาล์มดังกล่าว ส่วนภาษาท้องถิ่นเรียกว่า บูเก๊ะอีแป แปลว่าตะขาบภูเขา น่าจะมาจากส่วนช่อดอกที่คล้ายตัวตะขาบ

อำเภอบาเจาะ
อุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี สมัยก่อนเขาบูโด-สุไหงปาดี เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกาลาคีรีที่แบ่งเขตแดนไทย-มาเลเซีย เคยเป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย จึงไม่ค่อยมีผู้ใดเข้ามาสัมผัสความมหัศจรรย์ของผืนป่าดงดิบแห่งนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ กรมป่าไม้จึงจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกปาโจ และกลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒๙๔ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของนราธิวาส ยะลา และปัตตานี เทือกเขาบูโดนี้ จัดเป็นส่วนหนึ่งของป่าดิบร้อนแบบอินโด-มาลายัน ป่าดิบชื้นเขตร้อนซึ่งมีความชื้นสูงเพราะมีน้ำฝนตกตลอดปี และเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด เมื่อเทียบกับป่าประเภทอื่นในพื้นที่เท่าๆกัน
ป่าเขตร้อนนี้จะพบเฉพาะแนวเส้นศูนย์สูตร คือ พื้นที่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ที่ ๒๓ [๑/๒]
องศาเหนือและใต้ ในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงคอคอดกระจังหวัดระนองลงไป นักพฤกษศาสตร์แบ่งป่าเขตร้อนทั่วโลกออกเป็นสามเขตใหญ่ คือ ป่าฝนเขตร้อนทวีปอเมริกา ป่าฝนเขตร้อนแถบอินโด-มาลายัน และป่าเขตร้อนแถบทวีปแอฟริกา
พันธุ์ไม้เด่นของที่นี่คือ “ใบไม้สีทอง” หรือ “ย่านดาโอ๊ะ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก บางใบใหญ่กว่าฝ่ามือเสียอีก มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งที่โคนใบ และปลายใบ ลักษณะคล้ายวงรีสองอันอยู่ติดกัน ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล หากขึ้นในที่ที่มีความชื้นสูงลักษณะของใบจะยิ่งนุ่มหนาตามไปด้วย เมื่อใบใหญ่เต็มที่ จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีบรอนซ์เงิน หรือเขียวในที่สุด ช่อดอกสีขาวของย่านดาโอ๊ะก็เตะตาไม่แพ้กัน ใกล้ๆสำนักงานอุทยานฯก็มีอยู่ต้นหนึ่งให้ชื่นชม และยังมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ หายาก มีราคาแพง และกำลังจะสูญพันธุ์ คือ “หวายตะค้าทอง”
สัตว์ป่าหายากที่เคยพบในบริเวณนี้คือ แรด ชะนีมือดำ สมเสร็จ เลียงผา และที่สำคัญ คือ ค่างแว่นถิ่นใต้ มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนใต้ของพม่า ภาคใต้ของประเทศไทย ไปจนถึงมาเลเซียและหมู่เกาะใกล้เคียง มักอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงชันและป่าดงดิบ อยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 30-40 ตัว มีตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดเป็นจ่าฝูง ปกตินิสัยขี้อาย กลัวคน ไม่ก้าวร้าวดังเช่นลิง (นอกจากค่างแว่นถิ่นใต้แล้ว ในประเทศไทยยังพบค่างอีกสามชนิด ได้แก่ ค่างดำ ค่างหงอก และค่างแว่นถิ่นเหนือ ในปัจจุบันค่างทั้งสี่ชนิดถูกจัดให้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสถานภาพ ถูกคุกคาม)
ในอุทยานฯมีน้ำตกอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกภูแว น้ำตกปาโจ และน้ำตกปากอ แต่ที่รู้จักกันทั่วไป นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้สะดวก คือ “น้ำตกปาโจ” เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงกว้าง คำว่า “ปาโจ” เป็นภาษามลายูท้องถิ่นมีความหมายว่า “น้ำตก” ที่น้ำตกปาโจนี้มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้น ๆ รวม ๙ ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดและสวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ แต่เนื่องจากสภาพป่าโดยรอบไม่สมบูรณ์นัก ในหน้าแล้งน้ำจึงค่อนข้างน้อย
นอกจากน้ำตกยังมีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ ศาลาธารทัศน์ ซึ่งเคยเป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสจังหวัดนราธิวาส และยังมีก้อนหินสลักพระปรมาภิไธยตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกปาโจด้วย
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาส ๒๖ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๒ ไปยังอำเภอบาเจาะถึงบริเวณสี่แยกเข้าตัวอำเภอ ให้เลี้ยวเข้าไปตามถนนอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
มัสยิด ๓๐๐ ปี (มัสยิด วาดีอัลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ) บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาส เป็นระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๒ แล้วแยกที่บ้านบือราแง นายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร ๒ หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ลักษณะการสร้างจะใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายูออกแบบได้ลงตัว ส่วนเด่นที่สุดของอาคาร คือ เหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ก็ตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ส่วนช่องลมแกะเป็นลวดลาย ใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน
ปัจจุบันมัสยิดนี้ยังใช้เป็นสถานประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม หากต้องการเข้าชมภายในต้องได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น นอกจากนั้นหมู่บ้านตะโละมาเนาะในอดีตยังเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เขียนด้วยมือ
ด้านข้างมัสยิดมีสุสานชาวมุสลิม ถ้าเป็นของผู้ชายหินที่ประดับอยู่บนหลุมฝังศพจะมีลักษณะกลม ถ้าเป็นของผู้หญิงจะเป็นหินเพียงซีกเดียว
หลวงพ่อแดงวัดเชิงเขา ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ บ้านเชิงเขา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางจังหวัดปัตตานีประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีทางแยกจากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข ๔๒) เลี้ยวซ้ายที่บ้านต้นไทรระยะทาง ๕.๕ กิโลเมตร หลวงพ่อแดง อดีตเจ้าอาวาสและเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดนราธิวาส มรณะภาพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๒ รวมอายุได้ ๙๐ ปี ภายหลังจากที่ท่านได้มรณะภาพไปแล้ว ศพของท่านยังไม่เน่าเปื่อย ประชาชนจึงได้เกิดความศรัทธาและนำศพของท่านไปบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

อำเภอแว้ง
น้ำตกสิรินธร ลักษณะโดยทั่วไปไม่ใช่น้ำที่ตกมาจากผาสูง หากแต่เป็นลักษณะธารที่ค่อยๆลาดไหลมาจากแนวป่าสูง มีแอ่งน้ำลานหิน นั่งพักผ่อนได้ ธารน้ำตกจะไหลไปรวมที่คลองอัยกาดิง มักจะมีคนท้องถิ่นเข้ามาเที่ยว สิ่งที่ควรชมนอกเหนือจากน้ำตก ก็คือ โครงการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับป่าภาคใต้ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มีการรวบรวมไว้กว่า ๒๐๐ ชนิด โดยจัดปลูกพรรณไม้ต่างๆไว้เป็นหมวดหมู่ ตามสภาพธรรมชาติ และมีป้ายบอกชื่อ รวมทั้งประโยชน์ใช้สอยติดไว้ให้ศึกษา มีความน่าสนใจทั้งในแง่พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน และการนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อพัฒนาเป็นไม้ประดับและพืชเศรษฐกิจ ผู้สนใจเข้าชมได้ระหว่างเวลา ๘.๓๐-๑๖.๐๐ น.
การเดินทาง อยู่ห่างจากอำเภอแว้งไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๕๗ ประมาณ ๗ กิโลเมตร จากนั้นแยกเข้าไปตามถนนเพื่อความมั่นคงอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร จากปากทางเข้าไปอีกประมาณ ๓๐๐ เมตร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา เป็นพื้นที่อนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ อันเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๐,๗๒๕ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทิวเขาสันกาลาคีรี ป่าฮาลาและป่าบาลาเป็นผืนป่าดงดิบที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเดียวกัน คือ ป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส แต่ส่วนที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้ จะเป็นป่าบาลาเท่านั้น ป่าบาลามีพื้นที่ครอบคลุม อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
มีการตัดถนนสายความมั่นคง(ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖๒) ไปตามเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ป่าง่ายขึ้น เริ่มจากบ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง ตัดผ่านป่าบาลาและไปสิ้นสุดที่ บ้านภูเขาทองในอำเภอสุคิริน รวมระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร สองข้างทางมีสภาพเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย สำหรับการศึกษาธรรมชาติที่นี่เพียงขับรถไปตามถนนสายความมั่นคงก็จะได้ชมสิ่งพิเศษมากมาย เริ่มจากที่ทำการเขตฯเป็นต้นไป
ห่างจากสำนักงานมาประมาณ ๕ กิโลเมตร จะมีจุดชมสัตว์ บริเวณนี้จะมีต้นไทรขึ้นอยู่มาก และสัตว์มักจะมาหากินลูกไทรเป็นอาหาร ตรงเข้ามาอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะพบที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ภูเขาทองซึ่งเป็นหน่วยย่อยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายดังกล่าว จะเป็นทำเลที่สามารถเห็นทะเลหมอกอีกจุดหนึ่ง จากจุดนี้เดินเข้าไปประมาณ ๑๐๐ เมตร จะพบ ต้นสมพง(กระพง)ยักษ์ ขนาดเส้นรอบวง ๒๕ เมตร ความสูงของพูพอน(ส่วนที่อยู่โคนต้นไม้เป็นปีกแผ่ออกไปรอบๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ เพราะจะช่วยในการพยุงลำต้น) สูงประมาณ ๔ เมตร ต้นสมพงเป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามริมน้ำ เป็นไม้เนื้ออ่อนใช้ทำไม้จิ้มฟัน หรือไม้ขีด
สองข้างทางจะได้เห็นพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ไม่อาจหาชมได้ง่าย ๆ จากที่อื่นในเมืองไทย เช่น ต้นยวน ไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่วที่สวยเด่นสะดุดตา เห็นได้แต่ไกลจากถนน ด้วยผิวเปลือกที่ขาวนวล และรูปร่างที่สูงชะลูด สามารถสูงได้ถึง ๖๕-๗๐ เมตร ถือว่ามีความสูงเป็นอันดับสามของโลก รองจากต้นเรดวูด และยูคาลิบตัส มักถูกตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์ ต้นสยา ไม้ในวงศ์ยางซึ่งเป็นไม้เด่นของป่าฮาลา-บาลา จากจุดชมวิวจะเห็นเรือนยอดของต้นสยาขึ้นเบียดเสียดกัน ถ้าซุ่มสังเกตดี ๆ อาจจะได้พบนกเงือก เพราะต้นสยานี้เองที่เป็นแหล่งทำรังสำคัญของนกเงือก
ต้นหัวร้อยรูหนาม เป็นหนึ่งในบรรดาพืชที่พบ เป็นรายงานใหม่สำหรับประเทศไทย ฯลฯ
ยังมีสัตว์ป่าที่ทำให้ป่าแห่งนี้มีความสมดุลทางระบบนิเวศน์ได้ สัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นี่หลายชนิดเป็นสัตว์ที่หายากในไทย เช่น ชะนีดำใหญ่ หรือ เซียมัง มีสีดำตลอดตัว และมีขนาดใหญ่กว่าชะนีธรรมดาเกือบเท่าตัว ชะนีมือดำ ซึ่งปกติจะพบเฉพาะในป่าบนเกาะสุมาตรา บอร์เนียว และป่าบริเวณทางเหนือของมาเลเซียถึงทางใต้ของไทยเท่านั้น บางครั้งอาจจะโชคดีได้พบเจ้าสองตัวนี้เกาะอยู่บนยอดกิ่งไม้ นอกจากนั้นยังมี กบทูด ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยาวจากปลายปากถึงก้น ประมาณ ๑ ฟุต น้ำหนักกว่า ๕ กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง และจากการสำรวจพบสัตว์ป่าสงวน ๔ ชนิด คือ เลียงผา สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน และ กระซู่
นกเงือกซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า และเป็นนกหายากชนิดหนึ่ง แต่ในป่านี้พบถึง ๙ ใน ๑๒ ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน(เป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกแข็งทึบ ชาวบ้านในอินโดนีเซียจึงล่านกชนหินเพื่อเอาโหนกไปแกะสลักอย่างงาช้าง) นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง ฤดูที่เหมาะสมที่สุด คือ กุมภาพันธ์-เมษายน
ผู้ที่มีความประสงค์เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาธรรมชาติ ต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์มาล่วงหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าฮาลา-บาลา ตู้ ป.ณ. ๓ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ๙๖๑๖๐ หรือฝ่ายกิจการเขตรักษาพันธุ์ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐ ๗๓๕๑ ๙๒๐๒
สิ่งอำนวยความสะดวก ด้วยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์เป็นพื้นที่เปราะบาง จึงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักแรม
การเดินทาง สามารถเหมารถสองแถวได้ที่ตลาดอำเภอแว้ง หรือสถานีรถไฟสุไหงโกลก หรือขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๗ มุ่งหน้าไปยังอำเภอแว้ง จนถึงบ้านบูเก๊ะตา จะมีป้ายบอกทางให้ขับต่อไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา
ฤดูกาลที่เหมาะแก่การไปศึกษาธรรมชาติที่นี่คือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะมีฝนตกลงมาไม่มากเกินไปนัก


ข้อมูล อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป จังหวัดนราธิวาส
อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ตำบลดุซงยอ ตำบลบาลิซา ตำบลเฉลิม ตำบลมะเรือโบตก ตำบลตะมะยูง ตำบลซากอ ตำบลศรีบรรพต ตำบลเชิงคีรี อำเภอจะนะ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยป่าดงดิบชื้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และมีจุดเด่นที่น่าสนใจ เช่น น้ำตกไอร์กือดอ น้ำตกไอร์ลากอ เป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงามของจังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ประมาณ 180,518 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาสูงหลายลูกสลับซับซ้อน เรียงตัวจากทิศเหนือถึงทิศใต้มีความสูงชันพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ราบบริเวณเดิน ที่เหมาะแก่การปลูกพืช ยอดเขาสูงสุดโครงการนี้ คือ ยอดเขาแมะแต
ทิศเหนือ จดตำบลโลหะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
ทิศใต้ จดตำบลดุซอยอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ทิศตะวันออก จดตำบลเฉลิม ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ
ทิศตะวันตก จดตำบลมะยูง ตำบลซากอ ตำบลศรีบรรพต ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าโครงการฝั่งขวาแม่น้ำสายบุรีโดยทั่วๆ ไปค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นป่าดงดิบชื้น มีไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมโดยทั่วไป สภาพป่าตอนบนตลอดแนวเทือกเขา อยู่ในสภาพที่ดีเขียวชะอุ่มตลอดปี ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้หลุมพอ ยาง ตะเคียนทอง และตะเคียนชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
เนื่องจากป่าโครงการฝั่งขวาแม่น้ำสายบุรี เป็นป่าดงดิบชื้นมีฝนตกตลอดปี สัตว์ป่าชนิดต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งประกอบด้วย สัตว์ป่าประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิง ค่าง เก้ง กระจง กวาง เม่น นางอาย ชะอม พญากระรอก เป็นต้น สัตว์ป่าประเภทมีปีก เช่น นกเงือก นกขุนทอง นกเหี่ยว นกดุเห่วา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำต่างๆ อีกมาก
สถานที่ท่องเที่ยว
น้ำตกชีโป เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 7 ชั้น ชั้นที่ 7 เป็นชั้นที่สวยงามที่สุด สายน้ำแผ่กว้างสวยงามอาบเต็มหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง สามารถเล่นน้ำได้ น้ำตก ชีโปเป็นต้นน้ำของลำห้วยที่ชาวบ้านนำไปใช้ปลูกลองกองรสดี น้ำตกชั้นแรกอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีแอ่งน้ำกว้างที่เกิดจากการสร้างฝายกั้นน้ำ จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมีทางเดินขึ้นสู่น้ำตกชั้นต่าง
น้ำตกไอร์กอดอ เป็นน้ำตกสวยงามมาก เป็นน้ำตก 7 ชั้น ความสูงประมาณ 200-300 เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลศรีบรรพต อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
น้ำตกยากาบองอ เกิดจากลำธาร 2 สายไหลมาบรรจบกันแล้วตกลงจากหน้าผาสูงชันประมาณ 60 เมตร มีความงดงามมาก โดยเฉพาะในหน้าฝน
การเดินทาง
รถยนต์ ด้านทิศตะวันออก ของป่าโครงมีเส้นทางคมนาคม จากอำเภอรือเสาะ ถึงบ้านกาลกะเว จากบ้านกาลอกาเวมีเส้นทางไปถึงบ้านไอย์ตุ้น และบ้านไอร์เจี้ย ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณป่า เส้นทางดังกล่าวสามารถเข้าสู่ทางใหญ่ ถึงอำเภอรือเสาะได้ ด้านทิศตะวันออกเส้นทางใหญ่จากอำเภอระแงะ ถึงบ้านดุซงยอ บ้านไอร์กรอส ระหว่างทางมีเส้นทางแยกเข้าป่าหลายสาย ซึ่งนับว่า ป่าแปลงนี้ มีการคมนาคมถนนหนทางเกือบรอบป่า ซึ่งสะดวกในการเข้าตรวจสอบควบคุม และดำเนินการจัดตั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของป่าไม้
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป หมู่ 3 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 96130


ข้อมูล อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกต่าง ๆ ตลอดจนมีประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายในนาม ขบวนการบูโด และขบวนการพูโล มีเนื้อที่ประมาณ 293.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 183,562.5 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เป็นภูเขาดิน มียอดเขาตาเว เป็นยอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,800 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินอัคนี บางส่วนเป็น หินปูน และหินกรวดขนาดใหญ่ สภาพป่าจะทอดแนวทางทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ เป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำสายบุรี คลองบาเจาะ คลองกะยัง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
มีสภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน ซึ่งฝนจะตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือน มกราคม-เมษายน
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่า โดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ ขึ้นปกคลุมเทือกเขาทั้งหมด มีไม้ขนาดใหญ่ เช่น ไม้ตะเคียนชนิดต่างๆ ไม้กาลอ ไม้ไข่เขียว ไม้สยา ไม้หลุมพอ ไม้นาคบุตร ไม้ตีนเป็ดแดง และมี พรรณไม้ที่หายากมีราคาแพงและกำลังจะสูญพันธุ์ คือ หวายตะค้าทอง และ ปาล์มบังสูรย์ หรือ ลีแป พบตามบริเวณป่าลึกบนภูเขาสูงและสันนิษฐานว่ามีอยู่แห่งเดียวในป่าบริเวณนี้
สัตว์ป่า ประกอบด้วย เก้ง กระจง เลียงผา บ่าง ลิง ค่าง นกอินทรี นกยางเรีย นกกระทาสองเดือย นกเปล้าธรรมดา นกหัวขวานแดง นกกางเขนแดง นกกางเขนดง นกเงือกปากดำ ไก่ป่า เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยว
พลับพลาที่ประทับ ในเขตอุทยาน ฯ เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 7 ในคราวเสด็จประพาสจังหวัดนราธิวาส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อว่า “ศาลาธารทัศน์”
น้ำตกปาโจ ตั้งอยู่บริเวณบ้านปาโจ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี เคยได้รับรางวัลที่ 5 ในการประกวดแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสูงประมาณ 60 เมตร มี 5 ชั้น อยู่ห่างจากถนนสายปัตตานี–นราธิวาส 2 กิโลเมตร
น้ำตกฉัตรวาริน ตั้งอยู่บริเวณบ้านโผลง ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เดิมมีชื่อว่า ไอปาดง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย มีน้ำตกถึง 7 ชั้น อยู่ห่างจากอำเภอสุไหงปาดี 5 กิโลเมตร
น้ำตกพุเสด็จ ตั้งอยู่บริเวณบ้านแบเราะ ตำบลปะลุกาสนอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นผาน้ำตกถึง 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามมากและมีความสูงมากสำหรับชั้นที่สองเป็นที่สวยงามมากที่สุดมีความสูงประมาณ 12 เมตร มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่รองรับด้วย อยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะ 10 กิโลเมตร
น้ำตกจำปากอ อยู่บริเวณบ้านจำปากอ ตำบลกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส อยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะ 16 กิโลเมตร
น้ำตกคูแวว ตั้งอยู่บริเวณบ้านบาแระ ต.ปาลุกาสนอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นผาน้ำตก มี 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามมาก
การเดินทาง
รถยนต์ ไปตามถนนหลวงหมายเลข 42 จากจังหวัดปัตตานี-นราธิวาส แยกบริเวณอำเภอบาเจาะ ประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี (น้ำตกปาโจ)
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส 96170 โทรศัพท์ : (01) 4798301

ข้อมูล อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส
จากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมราษฎรในบริเวณพื้นที่บ้านบางมะนาว หมู่ที่ 1 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริให้มีการปรับปรุงด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งต่อมาสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานีได้สนองพระราชดำริดังกล่าว โดยทำการสำรวจพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติพิเศษป่าเขาตันหยง ในพื้นที่นอกเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยาน มีเนื้อที่ประมาณ 720 ไร่ และตั้งชื่อว่า “วนอุทยานอ่าวมะนาว” โดยกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2536 ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้ (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี) ได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดนราธิวาส ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับวนอุทยานอ่าวมะนาวว่า ควรดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานอ่าวมะนาวให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพราะมีพื้นที่โดยรวมประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีหาดทรายขาวสลับด้วยโขดหินที่สวยงามตา ประกอบกับวนอุทยานอ่าวมะนาวมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อกับพระตำหนักทักษิณราช นิเวศน์ ซึ่งทุกๆ ปีประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมจะมีการเสด็จแปรพระราชฐานเพื่อทราง งานตามพระราชดำริในท้องที่ภาคใต้ จำเป็นต้องมีสถานที่เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกรมป่าไม้ เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับกิจการด้านการป่าไม้ด้วย ซึ่งส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้สนองนโยบายตามที่อธิบดีมอบหมายดังกล่าว โดยสั่งเจ้าหน้าที่ออกมาทำการสำรวจพื้นที่บริเวณอ่าวมะนาวและบริเวณใกล้ เคียงในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอเมือง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เพื่อกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ จากผลการสำรวจพบว่าบริเวณพื้นที่อ่าวมะนาวและบริเวณใกล้เคียงมีสภาพธรรมชาติ ที่สมบูรณ์ เหมาะสมในการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ต่อมากรมป่าไม้ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี ส่งมอบวนอุทยานอ่าวมะนาวแก่ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลดำเนินการสำรวจเพิ่ม เติม เพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป และอธิบดีกรมป่าไม้ (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี) ได้ตั้งชื่อให้ใหม่เพื่อเป็นเกียรติว่า “อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง”
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน คือ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นหาดทรายติดกับชายทะเลและเนินเขาสูง บริเวณป่าสงวน 20% ของนิคมสหกรณ์บาเจาะ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแห้งแล้ง ในช่วงฤดูแล้งและบริเวณป่าพรุใกล้คลองปิเหล็ง สภาพพื้นที่ก็เป็นป่าพรุแต่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี
จากลักษณะดังกล่าว ทำให้พืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่าของทั้ง 3 แห่ง มีความแตกต่างกัน ซึ่งพอจำแนกได้ดังนี้ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่บริเวณชายหาดถึงที่ลาดชันเล็กน้อยจะพบพันธุ์ไม้ประเภทป่าชายหาด ซึ่งลักษณะเป็นป่าโปร่ง ลำต้นคดงอ เนื่องจากแรงลมหรือบริเวณที่ขึ้นอยู่ เช่น ขึ้นแทรกระหว่างก้อนหินพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ รักทะเล ยอป่า พะวา หูกวาง เลือดม้า มะนาวผี กระเบาลิง จิก พลับพลา มะพลับ มะกอก พลอง สารภีทะเล หยีน้ำ ชะเมา ตีนเป็ดทะเล ปอทะเล ฯลฯ ส่วนบริเวณที่สูงขึ้นไปจะพบพันธุ์ไม้ประเภทป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แอ๊ก ทังใบใหญ่ กันเกรา เตยทะเล ไทร มะคะ ตีนนก กระทุ่มบก เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาตินี้ ดร. เชาวลิตร นิยมธรรม ได้สำรวจพบ ต้นมะนาวผี (Atalantia monophylla) ที่มีขนาดใหญ่และสวยงามมากเท่าที่เคยพบเห็นมา โดยที่อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนพิเศษป่าเขาตันหยง มีสภาพธรรมชาติทีอุดมสมบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติมีอาณาเขตติดต่อกับแนวเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สัตว์ป่าที่อาศัยในบริเวณนี้จะเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติกับเขตพระราชฐานเพื่อหาอาหารและน้ำ สัตว์ที่สำรวจพบได้แก่ กระรอก กระแต พญากระรอก ชะมด ลิ่น เม่น ลิง ค่าง อีเก้ง งูเหลือม งูเห่า งูกะปะ ไก่ป่า เหยี่ยวแดง นกขมิ้น นอกจากนี้จะพบเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทสัตว์กีบ เช่น กวางป่า เก้ง กระจง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปล่อยไว้เพื่อสร้างระบบนิเวศในพิ้นที่ป่าสงวนแห่งชาติพิเศษป่าเขาตันหยง เป็นจำนวนมากอีกด้วย บริเวณพื้นที่ป่าสงวน 20% ของนิคมสหกรณ์บาเจาะ มีสภาพเป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแล้งในช่วงฤดูแล้งพันธุ์ไม้ที่พบเห็นบริเวณนี้ จำแนกได้ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นป่าพรุค่อนข้างสมบูรณ์ มีไม้ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมหนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระบุย ตีนเป็ดพรุ ช้างไห้ กระดุมผี อ้ายบ่าว กะทัง ทองบึ้ง หว้า เสม็ดแดง ชะเมา สาคู หลาวชะโอน สะเตียว หมากเขียว หมากแดง และบริเวณที่เป็นป่าเสม็ดซึ่งมีไม้เสม็ดขาวชนิดเดียวเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 80% ของเนื้อที่ทั้งหมด เท่าที่พบเห็นและสอบถามชาวบ้านในท้องที่ พบว่าเป็นแหล่งทีอยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ หมูป่า ชะมด ลิงกัง เสือปลา กระรอก กระแต อีเห็น เต่า ตะพาบน้ำ ตะกวด กบ เขียด ปลาดุก ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาลำพัน นกเอี้ยง นกขุนทอง นกกระปูด นกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน งูเห่า งูจงอาง งูเขียว เป็นต้น บริเวณป่าพรุใกล้คลองปิเหล็ง มีสภาพเป็นป่าพรุที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปี เป็นป่าพรุที่มีความหนาแน่นพอสมควร พันธุ์ไม้ส่วนสำคัญได้แก่ ไม้เสม็ดขาว และจากการสอบถามชาวบ้านท้องที่ สัตว์ที่พบได้แก่ เต่า ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาลำพัน ลิง ลิ่น นาก ตะกวด อีเห็น เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว
จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง คือ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมี่สภาพเป็นหาดทรายขาว สลับด้วยโขดหินที่อยู่กระจัดกระจายโอบล้อมด้วยเนินเขาสูงตลอดแนวจนถึงเขตพระ ราชฐาน บริเวณนี้จะพบเห็นพันธุ์ไม้ประเภทพันธุ์ไม้ป่าชายหาดที่สมบูรณ์ มีความสวยสดงดงามแปลกตาจำนวนมาก นอกจากนี้ในบริเวณเขตป่าซึ่งติดกับหาดทรายนั้นยังสามารถพบเห็นน้ำตก ซึ่งสามารถลงแล่นน้ำได้ โดยทางอุทยานแห่งชาติได้ตั้งชื่อให้ว่า “น้ำตกธาราสวรรค์” เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดจากภูเขาสูงในเขตพระราชฐานไหลลงสู่อ่าวไทยในเขตอุทยานแห่งชาติ (น้ำตกธาราสวรรค์นี้ จะพบเห็นได้เฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น)
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง หมู่ที่ 1 ตำบลกะลุวอเหนือ อ. มือง จ.นราธิวาส


ข้อมูล เทศกาลงานประเพณี : สินค้าพื้นเมือง : ของที่ระลึก จังหวัดนราธิวาส

เทศกาลงานประเพณี
งานของดีเมืองนรา เป็นงานที่รวบรวมสิ่งที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดนราธิวาส เช่น งานแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพพิเศษ งานวันกระจูด งานประชันเสียงนกเขาชวา งานวันลองกอง และงานแข่งเรือกอและหน้าพระที่นั่งกำหนดจัดงานประมาณเดือนกันยายนของทุกปี
การแข่งเรือกอและ-เรือยาวหน้าพระที่นั่ง โดยจัดให้มีการแข่งเรือกอและขึ้นในลำน้ำบางนรา บริเวณตรงข้ามกับศาลาประชาคม การแข่งเรือนี้จัดเป็นเทศกาลประจำปีในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
งานเสื่อกระจูด เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ-เรือยาวหน้าพระที่นั่งบริเวณ ศาลาประชาคม เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูด อันเป็นงานหนึ่งของโครงการศิลปาชีพในจังหวัดนราธิวาส เช่น จากหมู่บ้านทอน และบ้านพิกุลทอง เป็นต้น กิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการผลิตตั้งแต่การ เตรียมวัตถุดิบ คือต้นกระจูดอันเป็นวัชพืชในเขตป่าพรุ หรือที่ลุ่มน้ำขังของจังหวัดนราธิวาส ไปจนถึงการนำไปสานเป็นเสื่อลวดลายสวยงามต่าง ๆ และดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่งดงามแปลกตา อาทิ หมวก กระเป๋าถือ ที่ใส่จดหมาย ฝาชี โคมไฟ นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดอีกด้วย
งานสมโภชเจ้าแม่โต๊ะโมะ เป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอสุไหงโกลก ประกอบด้วยขบวนแห่เจ้าแม่ รถบุปผชาติ ขบวนเชิดสิงโตและมังกร การเข้าทรงแสดงอภินิหาร กำหนดจัดงานประมาณวันที่ ๒๓ เดือน ๓ ของจีนประจำทุกปี สำหรับภาคมหรสพมีการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ลองกอง เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดนราธิวาส พันธุ์ที่มีชื่อ คือ ลองกองบ้านซีโป อำเภอระแงะ เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับลางสาด มีเปลือกหนาและไม่มียางเหมือนลางสาด มีเนื้อน้อยกว่า แต่มีรสหวานกว่า อีกพันธุ์หนึ่งที่รสชาติดี คือ ลองกองตันหยงมัส ซึ่งเป็นลองกองซีโปที่นำมาปลูกที่บ้านตันหยงมัส ลองกองจะออกผลประมาณกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมสวนลองกองพร้อมวิทยากรบรรยาย และหาซื้อลองกองกลับบ้าน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอระแงะ โทร. ๐ ๗๓๖๗ ๑๒๙๐ และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๕๐๗๙
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์จากกระจูดและใบปาหนัน เรือกอและจำลอง และผลิตภัณฑ์เซรามิค ผ้าบาติก คำว่า บาติก เป็นภาษาชวา ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่รวมเอาศิลปะทางด้านฝีมือ และเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการทำผ้าบาติกมาใช้กันมาประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว การทำผ้าเป็นศิลปหัตถรรมที่น่าสนใจ หลักการทำผ้าบาติกอาศัยเทคนิคง่ายๆ คือ “การวันสีด้วยเทียน” โดยใช้ “วันติ้ง” เป็นเครื่องมือที่จุ่มเทียนไขเหลวเพื่อวาดลวดลายลงบนผืนผ้าก่อนลงสีในส่วน ที่ไม่ต้องการให้ติดสีที่ย้อม เมื่อนำไปย้อมสี สีก็จะติดเฉพาะส่วนที่ไม่ลงเทียนไว้และจะติดซึมไปตามรอยแตกของเทียนเกิดลวด ลายสวยงามแปลกตาอันเป็นสัญลักษณ์ของผ้า ปัจจุบันการทำผ้านิยมใช้วิธีพิมพ์ลายผ้ามากกกว่าวิธีเขียนลายด้วยมือเพราะ เร็วและสะดวกกว่า ผ้าบาติกนี้นอกจากส่งขายตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ในไทยแล้ว ยังส่งออกไปขายในมาเลเซียด้วย
ปลากุเราเค็ม เป็นปลาเค็มแห้งที่มีเนื้อนุ่ม รสชาติอร่อยที่สุดและแพงที่สุดในประเทศไทย ได้รับการยกย่อง และความนิยมจากนักชิมทั่วไป ผลิตที่ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ
สะตอหรือลูกตอ เป็นผลิตผลจากพืชเศรษฐกิจของภาคใต้มีลักษณะเป็นฝักแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ถี่เรียงกันยาวไปตามฝัก กลุ่มของเมล็ดฉุนและอมหวาน เป็นที่นิยมของผู้บริโภค สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงกะทิ ต้มกะทิ ผัดเผ็ด ผัดจืด (ใส่กะปินิดหน่อย) นอกจากนี้ยังใช้ต้ม เผาหรือรับประทานดิบ ๆ กับน้ำพริก, แกงเผ็ด ทุกชนิด และขนมจีน ส่วนสะตอดองเปรี้ยวสามารถเก็บรักษาไว้ได้เป็นแรมปี

อาหารพื้นเมือง
ไก่ฆอและ ก็คือไก่ปิ้งที่นำมาใส่เครื่องปรุงประกอบด้วยแกงซึ่งมีพริกแห้ง ขิง ขมิ้น หัวหอม กระเทียม กะทิ ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล ส้มแขก หรือส้มมะขามเปียก เป็นอาหารที่จัดว่าเป็นอาหารจานพิเศษ เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีความอร่อย นิยมใช้ต้อนรับแขกมาเยือน หรืองานเลี้ยงต่าง ๆ
ข้าวยำใบพันสมอ หรือเรียกกันว่า ข้าวยำนราธิวาส เป็นอาหารอย่างหนึ่งของชาวนราธิวาส นิยมหุงด้วยข้าวเก่าค้างปี เพราะหุงแล้วข้าวจะแห้งและร่วนดี สำหรับเครื่องปรุงประกอบด้วย น้ำบูดูสด มะพร้าวคั่ว ปลาย่างฉีกฝอย พริกไทยป่น มะม่วงหรือมะขาม ผักต่าง ๆ เช่น ตะไคร้ ดอกกาหลา ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ยอดตาเป็ด ลูกไตเบา (กระถิน) ยอดหมักแพ ยอดแหร (มะม่วงหิมพานต์) ยอดราม เป็นต้น ผักทุกชนิดจะหั่นฝอย
บูดู เป็นอาหารคาว มี ๒ ชนิด คือบูดูแบบเค็ม สำหรับปรุงแล้วใช้ผักสดจิ้มรับประทานกับข้าวสวย และบูดูแบบหวาน ที่เรียกว่า “น้ำเคย” ใช้สำหรับคลุกกับยำปักษ์ใต้ บูดูทั้ง ๒ ชนิดนี้ ได้จากการหมักปลา
รอเยาะ เป็นอาหารพื้นเมืองประเภทอาหารคาวที่ปรุงจากผักและผลไม้สดมีน้ำแกงราด เป็นที่นิยมของชาวไทยมุสลิม รับประทานเป็นอาหารว่าง หรือบางทีก็รับประทานกับข้าว
ละแซ หรือ ละซอ เป็นอาหารคาวซึ่งมีเส้นแบนยาวเป็นแถบ ๆ กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร คล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ราดด้วยน้ำแกงและผสมผักใช้รับประทานเหมือนขนมจีน ลักษณะของน้ำแกงเป็นน้ำข้น ๆ สีขาวนวล
ผักที่นิยมใช้รับประทาน คู่กับละแซ คือ หัวปลี ถั่วงอก ดอกกาหลา ใบจันทน์หอม ถั่วฝักยาว แตงกวา ยอดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง
เจเคบาติก (แวปาบาติก) บ้านยะกัง อ.เมือง หยุดวันศุกร์(ทำละหมาด) โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๒๔๕๒ เปิด ๐๘.๐๐-๑๕.๓๐ น.
อ่าวมะนาวบาติก บ้านอ่าวมะนาว อ.เมือง (ใกล้สำนักงาน ททท.ภาคใต้เขต ๓) เปิด ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
โยฮันบาติก ๒๓๐ ถ.ประชาวิวัฒน์ อ.สุไหงโกลก (ตามข้ามปั๊มน้ำมันคาร์ลเทค) โทร. ๐ ๗๓๖๑ ๘๒๔๗เปิด ๐๘.๓๐-๑๘.๐๐ น.
ศูนย์หัตถกรรมพื้นเมืองภาคใต้ ๖๘/๓ ถ.วรคามพิพิธ อ.เมือง โทร. ๐ ๗๓๕๒ ๒๓๙๙, ๐ ๑๘๙๗ ๐๘๗๒ จำหน่ายผ้าบาติก ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเส้นใย เปิด ๐๘.๐๐-๒๑.๐๐ น.
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านร่อนพัฒนา ๑๒๕ หมู่ ๒ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ โทร. ๐ ๗๓๖๗ ๑๔๘๒ จำหน่ายส้มแขกแก้วและผลิตภัณฑ์ส้มแขกแปรรูป เปิด ๑๓.๐๐-๑๗.๐๐ น.

0 Responses