จังหวัดปัตตานี

บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดปัตตานี

ปัตตานีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ติดกับทะเลจีนใต้ หรืออ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ ๑,๙๔๐.๓๕๖ ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำที่สำคัญ ๒ สาย คือ แม่น้ำตานี และ แม่น้ำสายบุรี ในอดีตจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เคยมีฐานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะซึ่งเป็นรัฐอิสระของชาวไทยพุทธในพุทธศตวรรษที่ ๗ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รัฐกลันตัน กับรัฐตรังกานูในมาเลเซีย ปัจจุบันยังมีซากเมืองเก่าของปัตตานีในยุคนั้นปรากฏให้เห็นที่อำเภอยะรังในปัจจุบัน และจากการที่มีพื้นที่เป็นป่าเขา และมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางยาวประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร จึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า และวัฒนธรรม มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวหลายด้าน ทั้งด้านธรรมชาติ โบราณสถานทางประวัติศาสตร์และด้านประเพณีวัฒนธรรม
ปัตตานีแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี ยะรัง หนองจิก โคกโพธิ์ ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ สายบุรี กะพ้อ ไม้แก่น ทุ่งยางแดง และแม่ลาน
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวไทย
การเดินทาง
รถยนต์ ปัตตานี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๑,๐๕๕ กิโลเมตรโดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษมผ่านเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-ต่อ ด้วยทางหลวงหมายเลข๔๑ ผ่านทุ่งสง-พัทลุง-หาดใหญ่ และเดินทางต่อไปยังจังหวัดปัตตานี
รถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถด่วนและรถเร็วบริการถึงสถานีปัตตานี(โคกโพธิ์) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔ สำรองตั๋วโดยสาร ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ หรือสถานีปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๔๓ ๑๒๓๒ หรือ www.railway.co.th
จากสถานีปัตตานี จะมีรถโดยสารประจำทางและรถแท๊กซี่บริการระหว่างอำเภอโคกโพธิ์-อำเภอเมือง ระยะทางประมาณ ๒๙ กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนีไปจังหวัดปัตตานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๑๙ , ๐ ๒๔๓๔ ๕๕๕๗-๘ หรือ www.transport.co.th
เครื่องบิน บมจ.การบินไทย ไม่มีเที่ยวบินตรงไปจังหวัดปัตตานี นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้โดยลงที่หาดใหญ่ (บมจ.การบินไทย มีบริการรถรับส่งระหว่างสนามบินหาดใหญ่-ปัตตานี ไป-กลับ ทุกวัน ๆละ ๒ เที่ยว โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า)หรือนักท่องเที่ยวสามารถ ต่อรถโดยสารประจำทางหรือรถแท๊กซี่จากหาดใหญ่ไปปัตตานีได้ ระยะทางประมาณ ๑๐๔ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง สอบถามเที่ยวบิน ได้ที่ บมจ.การบินไทย โทร. ๑๕๖๖ , ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐ , ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ สำนักงานปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๓ ๕๙๓๘ หรือ www.thaiairways.com
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอหนองจิก ๘ กิโลเมตร
อำเภอยะหริ่ง ๑๔ กิโลเมตร
อำเภอยะรัง ๑๕ กิโลเมตร
อำเภอโคกโพธิ์ ๒๖ กิโลเมตร
อำเภอมายอ ๒๙ กิโลเมตร
อำเภอแม่ลาน ๓๐ กิโลเมตร
อำเภอปะนาเระ ๔๓ กิโลเมตร
อำเภอทุ่งยางแดง ๔๕ กิโลเมตร
อำเภอสายบุรี ๕๐ กิโลเมตร
อำเภอไม้แก่น ๖๕ กิโลเมตร
อำเภอกะพ้อ ๖๘ กิโลเมตร
ระยะทางจากจังหวัดปัตตานีไปยังจังหวัดใกล้เคียง
ยะลา ๓๕ กิโลเมตร
นราธิวาส ๑๐๐ กิโลเมตร
สงขลา ๙๙ กิโลเมตร

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ
ที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๔ ๙๐๑๕
เทศบาลเมืองปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๓ ๔๓๓๓, ๐ ๗๓๓๓ ๗๑๔๑
บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๔ ๘๘๑๖
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) สาขาปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๓ ๕๙๓๘
ประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๔ ๘๔๓๕, ๐ ๗๓๓๑ ๓๙๐๙
ตรวจคนเข้าเมืองท่าเรือปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๔ ๙๓๒๐ , ๐ ๗๓๓๔ ๙๔๘๐
โรงพยาบาลปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๓ ๑๘๕๙–๖๓
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๔ ๙๐๑๘ , ๐ ๗๓๓๔ ๘๖๐๒
สำนักงานจังหวัดปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๔ ๙๐๐๒ , ๐ ๗๓๓๓ ๑๑๕๔
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. ๑๑๕๕
ตำรวจทางหลวง โทร. ๑๑๙๓

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต ๓ (นราธิวาส)
๑๐๒/๓ หมู่ ๒ ถนนนราธิวาส-ตากใบ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ๙๖๐๐๐
โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๖๑๔๔ โทรสาร ๐ ๗๓๕๒ ๒๔๑๒ E-mail : tatnara@tat.or.th
พื้นที่ความรับผิดชอบ: นราธิวาส ยะลา ปัตตานี
ใช้บริการบริษัทนำเที่ยวที่มีใบอนุญาต ท่านจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

แผนที่จังหวัดปัตตานี

แผนที่ตัวเมืองปัตตานี


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้ง อยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นสวนสาธารณะที่จัดสร้างขึ้นบริเวณริมทะเลสาบแม่น้ำปัตตานีฝั่งซ้าย ไปจนติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสวนป่าชายเลนที่ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับทิวทัศน์สวยงามร่มรื่นจึงมี ผู้นิยมไปพักผ่อนกันมาก
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี ภายในพิพิธภัณฑ์เแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ
1. พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติ ผลงานและสิ่งของเครื่องใช้ของพระธรรมโมลี พระพุทธรูป เทวรูปปางต่างๆ พระพิมพ์ พระเครื่อง โบราณวัตถุที่สำคัญ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป เครื่องถ้วยไทย-จีน เหรียญที่ระลึก เงินตราและธนบัตรต่างๆ เป็นต้น
2. พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา จัดแสดงเรื่องราวให้ความรู้และให้การศึกษาเฉพาะเรื่อง แบ่งเป็นส่วนๆได้แก่ เรื่องเรือนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครื่องมือและเครื่องใช้พื้นบ้าน ศิลปการแสดงพื้นบ้าน โบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และจากแหล่งชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เมืองโบราณยะรัง เครื่องถ้วย ความเชื่อพื้นถิ่นและเทคโนโลยี
การเข้าชม เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐–๑๒.๐๐ น. และ ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. เว้นวันหยุดราชการ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม สำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะหรือต้องการวิทยากรนำชมสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ งานบริการทางการศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ๙๔๐๐๐ โทร. ๐ ๗๓๓๑ ๓๙๓๐-๕๐ ต่อ ๑๔๗๒ , ๑๔๗๓ ,๑๔๗๖ และ ๐ ๗๓๓๓ ๑๒๕๐ โทรสาร ๐ ๗๓๓๓ ๑๒๕๐
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้ง อยู่ที่ถนนยะรัง เส้นทางยะรัง-ปัตตานี ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้เวลาดำเนินการสร้างประมาณ ๙ ปี และทำพิธีเปิดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมีรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลของอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร ๔ ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้าง บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้างภายในห้องโถงด้านในมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบ
ศาลหลักเมือง ตั้ง อยู่บริเวณสนามศักดิ์เสนีย์ ในโรงเรียนเบญจมราชูทิศจังหวัดปัตตานีตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี สร้างเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ สมัยพระยารัตนภักดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองปัตตานีและนักท่องเที่ยว จะพากันไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ
มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาสหรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๒ บริเวณบ้านกรือเซะ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ ๗ กิโลเมตร ลักษณะการก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นแบบเสากลมก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง บริเวณใกล้เคียงนั้นมีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๒๑–๒๑๓๖)
สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ ตามทางหลวงหมายเลข ๔๒ (ปัตตานี-นราธิวาส) ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ มีตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวได้ลงเรือสำเภามาตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งมาแต่งงานกับธิดาพระยาตานี และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกลับประเทศจีนไม่สำเร็จ จึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงได้ฝังศพลิ้มกอเหนี่ยวไว้ที่นี่ ต่อมาชาวปัตตานี นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้น
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู เป็นศาลที่ประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปีจะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่าง ๆ ภายในตัวเมืองปัตตานีทำพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต ในงานนี้มีผู้ที่เคารพศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอยะหริ่ง : อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

อำเภอยะหริ่ง
หาดตะโละกาโปร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีตามทางหลวงหมายเลข ๔๒ (ปัตตานี-นราธิวาส) เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามูตามสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ผ่านพื้นที่สวนป่าชายเลนและหมู่บ้านไปจนถึงทางแยกเข้าสู่หาด รวมระยะทางประมาณ ๑๘ กิโลเมตร หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี เคยประกวดแหล่งท่องเที่ยว ๕ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ได้ที่ ๒ ประเภทแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประจำปี ๒๕๒๙ หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดทรายขาวสะอาดขนานกับชายฝั่งทะเล มีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่เป็นจำนวนมาก หาดทรายแห่งนี้งอกยาวออกไปเรื่อยๆ เพราะเกิดจากกระแสน้ำพัดเอาตะกอนทรายมาทับถมพอกพูน เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนชมความสวยงาม มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่นสวยงาม
แหลมตาชี หรือ แหลมโพธิ์ เป็นหาดทรายขาวต่อจากหาดตะโละกาโปร์ เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเล ในลักษณะสันดอนจะงอย (Sand Spit) ไปในทะเลอ่าวไทยทางทิศเหนือ มีภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางไปแหลมตาชีไปได้ ๒ ทาง คือ
ทางน้ำ นั่งเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีตรงไปยังแหลมตาชีเลย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ หรือ นั่งเรือจากท่าด่านอำเภอยะหริ่ง ออกมาตามคลองยามู จนถึงทะเลในไปจนถึงแหลมตาชี
ทางบก จากอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามู มีถนนตัดเข้าไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร จนถึงปลายแหลมตาชี
มัสยิดบ้านดาโต๊ะ หรือ มัสยิดดาโต๊ะ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอยะหริ่งประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับทางไปหาดตะโละกาโปร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในประวัติศาสตร์ด้านศาสนา ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง ตั้งอยู่บริเวณริมคลองยามู ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนยะหริ่ง มีพื้นที่โครงการรวม ๕๐๐ ไร่ ศูนย์ฯนี้มีทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเป็นสะพานที่สร้างด้วยไม้ตะเคียน ทอง (Hopea Odorata) เป็นระยะทางยาวโดยรอบ ๑,๒๕๐ เมตร ตลอดเส้นทางเดินโดยรอบจะเห็นกลุ่มไม้ในสังคมป่าชายเลนทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาและไม้พื้นล่าง ซึ่งพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีความสามารถขึ้นอยู่ได้ในบริเวณที่มีลักษณะแตกต่าง กัน โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ระหว่างระดับน้ำทะเลต่ำสุดและระดับน้ำทะเลสูงสุด เช่น กลุ่มไม้ถั่วขาว กลุ่มไม้ตะบูนดำ กลุ่มไม้ตาตุ่มทะเล ฝาดดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกขาว เป็นต้น ตามเส้นทางจะมีระเบียงพักและมีซุ้มสื่อความหมายอธิบายเกี่ยวกับป่าชายเลน พร้อมมีรูปภาพประกอบและยังมีสะพานทางเดินไม้ยกระดับ ศาลาพักผ่อน และหอชมนก เพื่อชมทัศนียภาพเหนือยอดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนซึ่งหอนี้มีความสูงถึง ๑๓ เมตร
นอกเหนือจากการเดินศึกษาป่าชายเลนตามเส้นทางเดินแล้วยังมีการล่องเรือ ชมป่าชายเลนซึ่งจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งของศูนย์ฯ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมธรรมชาติป่าชายเลนตามลำคลองน้อยใหญ่ซึ่งแบ่ง เป็น ๓ สายคือคลองบางปู คลองกลาง คลองกอและ ตลอดสองฝั่งคลองจะเห็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ นกนานาชนิด วิถีชีวิตของชาวบ้านกับป่าชายเลนและความสวยงามของสวนป่าโกงกาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง โทร. ๐ ๑๓๖๘ ๓๑๐๔

อำเภอปะนาเระ
หาดปะนาเระ อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกับหาดตะโละกาโปร์ เป็นหมู่บ้านชาวประมงหลายร้อยหลังคาเรือน บนหาดทรายมีเรือกอและ และเรือประมงนานาชนิดจอดเรียงรายอยู่ทั่วทั้งหาด หาดทรายไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะเป็นหมู่บ้านชาวประมงและที่จอดเรือ
หาดชลาลัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๒ กิโลเมตร ไปตามถนนสายปัตตานี-นราธิวาส เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอปะนาเระและแยกเข้าสู่ชายหาด จุดเด่นของหาดแห่งนี้อยู่ที่บึงน้ำขนาดใหญ่ใกล้บริเวณทิวสน ซึ่งให้บรรยากาศที่สงบร่มรื่นเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
หาดมะรวด อยู่ถัดจากหาดชลาลัยไปประมาณ ๒ กิโลเมตร การเดินทางเช่นเดียวกับทางไปหาดชลาลัยแต่ไปต่อจนถึงทางแยกจากถนนปะนาเระ -สายบุรีและเลี้ยวซ้ายไปสู่หาด ลักษณะเด่นของหาดมะรวดได้แก่ ภูเขาหินที่มีขนาดเล็กตั้งซ้อนทับกันอยู่ดูแปลกตา และมีทางเดินทอดยาวให้ขึ้นไปเดินเล่นบนยอดเขาได้อีกด้วย
หาดราชรักษ์ เป็นหาดทรายต่อเนื่องกับหาดชลาลัย หาดมะรวดและหาดแฆแฆ โดยอยู่ถัดจากหาดมะรวดไปเพียง ๑ กิโลเมตร และอยู่ก่อนถึงหาดแฆแฆประมาณ ๒ กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางเดียวกับที่ไปหาดชลาลัย และหาดมะรวด ลักษณะเด่นของหาดราชรักษ์คือเป็นหาดทรายกว้างล้อมรอบด้วยโขดหิน และหุบเขาเตี้ยๆ บนเนินเขา นับได้ว่าเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
หาดแฆแฆ อยู่ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๓ กิโลเมตร คำว่า “ แฆแฆ ”เป็นภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) มีความหมายว่า อึกทึกครึกโครม อยู่ในท้องที่ตำบลน้ำบ่อ ตั้งอยู่ห่างจากหาดราชรักษ์ประมาณ ๒ กิโลเมตร จุดเด่นของหาดแฆแฆคือเป็นชายหาดที่มีโขดหินแกรนิตขนาดใหญ่ ลักษณะแปลกตาสวยงาม บนเนินเขามีศาลาพักผ่อนและเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยแห่งหนึ่งของอำเภอปะนาเระ

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอสายบุรี : อำเภอมายอ : อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

อำเภอสายบุรี
หาดวาสุกรี (ชาย หาดบ้านปาตาตีมอ) อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ ๕๒กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอสายบุรีประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน การเดินทางจากตัวเมืองปัตตานี ใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส หรืออาจเลือกเดินทางผ่านหาดแฆแฆไปจนถึงอำเภอสายบุรีหรือเลี้ยวซ้ายตรงทางแยก เข้าสู่อำเภอสายบุรีโดยตรงก็ได้ ลักษณะของหาดทรายเป็นแนวยาวขนานไปกับทิวสน นอกจากนี้ยังมีบังกะโลให้บริการอีกด้วย
บ้านปะเสยะวอ ตั้ง อยู่ที่หมู่บ้านปะเสยะวอ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการต่อเรือ กอและ ซึ่งเป็นเรือประมงของชาวปัตตานีและนราธิวาส มีลักษณะเป็นเรือหัวแหลมท้ายแหลม ระบายสีสันงดงาม การเดินทางไปตามเส้นทางเดียวกับทางที่ไปหาดแฆแฆ แล้วเดินทางต่อไปตามถนนเลียบชายทะเลไปจนถึงบ้านปะเสยะวอ เรือกอและของชาวบ้านปะเสยะวอมีทั้งขนาดใหญ่ที่เป็นเรือประมงจริงๆ และขนาดเล็กที่จำลองขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึก ฝีมือการต่อเรือกอและที่นี่ ได้รับการยอมรับว่าประณีตงดงามด้วยลวดลายที่ผสมกลมกลืนกันระหว่างศิลปะไทย และมุสลิม นอกจากนี้บ้านปะเสยะวอยังมีชื่อเสียงในการทำน้ำบูดูรสดีอีกด้วย

อำเภอมายอ
เขาฤาษี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลมายอ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๓ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นโขดหินธรรมชาติ มีบ่อน้ำก่อด้วยอิฐกว้าง ๒ ศอก ลึกประมาณ ๕ ศอก ถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทางราชการเคยนำไปใช้ในพิธีราชาภิเษกหลายรัชกาล และได้สร้างโบสถ์ครอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้ บนเขาฤาษีนี้ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาฤาษีแปลงสาสน์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง

อำเภอยะรัง
เมืองโบราณยะรัง เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้และเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า “ลังกาสุกะ” หรือ “ลังยาเสียว” ตามที่มีหลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับ ลักษณะของเมืองโบราณยะรัง สันนิษฐานว่า มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ ๙ ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกันถึง ๓ เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกัน ประกอบไปด้วย
- เมืองโบราณบ้านวัด มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบกว่า ๒๕ แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือในบริเวณพื้นที่บ้านจาเละ
- เมืองโบราณบ้านจาเละ มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำ โอบล้อมด้วยคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมถัดจากกลุ่มโบราณสถานบ้านวัดขึ้นไปทางทิศ เหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร
- เมืองโบราณบ้านปราแว เป็นเมืองคูน้ำ คันดินขนาดเล็กที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่ามีป้อมดินทั้ง ๔ มุมเมือง และมีคลองส่งน้ำต่อเชื่อมกับคูเมืองโบราณบ้านจาเละสี่มุมเมืองด้านทิศเหนือทั้ง ๒ ด้าน
นอกจากร่องรอยของคูน้ำ คันดินคูเมืองโบราณทั้ง ๓ แห่งแล้วภายในกลุ่มเมืองโบราณนี้ ยังปรากฎซากโบราณสถานเนินดินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่น้อยกว่า ๓๐ แห่ง การเดินทางไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงหมายเลข ๔๑๐) จากจังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖๑) ประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณและเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๔๐๐ เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ
นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ในวันและเวลาราชการ โทร. ๐ ๗๓๔๓ ๙๐๙๓
วัดมุจลินทวาปีวิหาร ตั้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ในเขตสุขาภิบาลอำเภอหนองจิก เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ เดิมมีชื่อว่า วัดตุยง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมุจลินทวาปีวิหาร” ปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม จุดเด่นของวัดคือวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส ๓ องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ซึ่งประชาชนที่เคยได้ยินคุณความดีของหลวงพ่อ ต่างเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมานมัสการสักการะบูชาอยู่เสมอ

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอหนองจิก : อำเภอโคกโพธิ์ : อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี


อำเภอหนองจิก
หาดรัชดาภิเษก ตั้งอยู่ที่บ้านสายหมอ ตำบลสายหมอ ห่างจากตัวจังหวัดปัตตานีประมาณ ๑๕ กิโลเมตรหรือห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองจิกประมาณ ๒ กิโลเมตร มีทางแยกเข้าระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร ชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสนเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน

อำเภอโคกโพธิ์
พลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ ๗ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ ๒๖ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๔๒ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นศาลาทรงไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
ศูนย์ฝึกอาชีพ (วัดช้างให้) ตั้งอยู่ระหว่างตำบลทุ่งพลา-ตำบลนาประดู่ เป็นศูนย์การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เช่น ผ้าบาติก เรือกอและจำลอง เซรามิก เป็นต้น การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๒ (ปัตตานี – โคกโพธิ์) ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ (ปัตตานี – ยะลา) ผ่านเทศบาลนาประดู่
วัดราษฎร์บูรณะ(วัดช้างให้) ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไร่ ตำบลทุ่งพลา ริมทางรถไฟสายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระหว่างสถานีนาประดู่กับสถานีป่าไร่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓๑ กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสาย ๔๒ (ปัตตานี-โคกโพธิ์) ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนเทศบาลนาประดู่และศูนย์ฝึกอาชีพ (วัดช้างให้) ไปจนถึงทางแยกเพื่อเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ ๗๐๐ เมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของสถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถ และหอระฆัง ที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง
หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เป็นผู้มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและด้านเวทมนตร์คาถาต่างๆ เล่ากันว่าท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหารย์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน เช่นครั้งที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุ จนกระทั่งข้าวปลาและอาหารตลอดจนน้ำดื่มตกลงทะเลไป ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมาก หลวงปู่ทวดจึงได้แสดงอภินิหารหย่อนเท้าลงไปในทะเล ปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นได้กลายเป็นน้ำจืด และดื่มกินได้ ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของท่านก็ขจรขจายไปทั่ว และต่อมาหลวงปู่ทวดได้มรณภาพที่ประเทศมาเลเซีย แล้วได้นำพระศพกลับมาที่วัดช้างให้ งานประจำปีในการสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวดวัดช้างให้คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ วัดช้างให้เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ตั้งอยู่ที่ตำบลทรายขาว ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ ปัตตานี ยะลาและสงขลา มีพื้นที่ประมาณ ๖๘,๗๕๐ ไร่ สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบชื้น จึงอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดและประกอบด้วยน้ำตกต่างๆเช่น
น้ำตกทรายขาว ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลทรายขาว เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ ๔๐ เมตร แล้วไหลลงไปตามลำธารลดหลั่นเป็นชั้นๆเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ สายปัตตานี – ยะลา ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ถึงสามแยกตำบลนาประดู่ จากนั้นใช้เส้นทางนาประดู่-ทรายขาว ประมาณ ๗ กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกทรายขาว บริเวณน้ำตกมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวรวมทั้งมีบริการ บ้านพัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๕๗๓๔, ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓ , ๐ ๒๕๖๑ ๒๙๑๙, ๐ ๒๕๖๑ ๒๙๒๑, ๐ ๒๕๖๑ ๔๒๙๒-๓ ต่อ ๗๒๔, ๗๒๕ อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว จังหวัดปัตตานี โทร. ๐ ๗๓๓๓ ๙๑๓๘
น้ำตกโผงโผง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลปากล่อ การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๒ (ปัตตานี-ยะลา)และต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ สายปัตตานี-ยะลา ถึงบ้านปากล่อ เลี้ยวขวาไปตามทางลาดยางอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก น้ำตกโผงโผงเป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได จำนวน ๗ ชั้น จากที่ราบชั้นล่างสุดมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบน จะมองเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตามหน้าผาและโขดหิน พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณที่ใกล้น้ำตกมีความร่มรื่นถูกปกคลุมด้วย พันธุ์ไม้นานาชนิดสภาพร่มรื่นเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน
น้ำตกอรัญวาริน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลทุ่งพลา การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ สายปัตตานี-ยะลา ถึงทางแยกขวามือตรงปากทางเข้าวัดห้วยเงาะ อีกประมาณ ๖ กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓๐ กิโลเมตร น้ำตกอรัญวารินเป็นน้ำตกในเทือกเขาสันกาลาคีรี ลักษณะน้ำตกแบ่งออกเป็นชั้นๆ รวม ๗ ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๓๐๐–๕๐๐ เมตร ซึ่งในแต่ละชั้นมีลักษณะความสวยงามแตกต่างกันออกไป

อำเภอไม้แก่น
หาดทรายชายบึงบ้านละเวง จากตัวเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๒ (ปัตตานี-นราธิวาส ) เป็นระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ทางแยกเข้าอำเภอไม้แก่นอยู่ทางซ้ายมือ เมื่อข้ามสะพานกอตอ ไปประมาณ ๘ กิโลเมตร ก็จะถึงหาดทราย ชายบึงบ้านละเวง มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติงดงามแปลกตาแก่ผู้ที่พบเห็น ลักษณะของหาดทรายแห่งนี้ คือ มีบึงขนาดใหญ่เคียงข้างหาดทรายขาวสะอาด ให้บรรยากาศแตกต่างจากหาดทรายอื่น นอกจากนี้บริเวณนั้นยังมีศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ (กลุ่มทอผ้าบ้านละเวง) นักท่องเที่ยวสามารถไปดูการทอผ้าฝ้าย และยังมีโครงการทดลองเลี้ยงปลาน้ำกร่อยอีกด้วย
หาดบางสาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลไทรทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๗๔ กิโลเมตร ลักษณะเป็นหาดทรายชายทะเลยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร
หาดป่าไหม้ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลไทรทอง เป็นหาดทรายต่อจากหาดบางสาย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

ข้อมูลท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว จังหวัดปัตตานี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว มี พื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ ตำบลป่าบอน ตำบลนาประดู่ ตำบลทรายขาว ตำบลทุ่งพลา ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่ตำบลโหนก ตำบลเปียน ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติ น้ำตกที่สวยงาม สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ควรแก่การศึกษาหาความ รู้เป็นอย่างยิ่ง
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ทั้งหมดจะอยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นเทือกเขายาวที่สลับซับซ้อนติดต่อกันมียอดเขาบางจันทร์เป็นยอดเขาที่สูง ที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่จะลดลงไปทางทิศตะวันตก เป็นที่เนินเขา และเป็นที่ราบ ดินจะเป็นดินเหนียวปนทราย ส่วนมากหินเป็นหินปูนและหินแกรนิต
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศจะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือพัดผ่านฤดูฝนอยู่ระหว่าง เดือนพฤษภาคม-เดือนมกราคม จะมีฝนตกตลอด ช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม จะมีฝนตกหนัก และฤดูร้อนจะอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน อากาศจะไม่ร้อนจัดนัก
สถานที่ท่องเที่ยว
น้ำตกทรายขาว เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร แล้วไหลลงไปตามลำธาร ซึ่งบางตอนเป็นแอ่งสวยงามมาก ความยาวประมาณ 700 เมตร สองข้างลำธารมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมตลอดให้ความร่มรื่นและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง อยู่บริเวณตำบลนาประดู่ไปตามเส้นทางโคกโพธิ์-ยะลาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409
น้ำตกโผงโผง เป็นน้ำตกที่ไหลตกลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันไดมี 7 ชั้น จากที่ราบชั้นล่างสุดซึ่งมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่ มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบน จะเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตามหน้าผาและโขดหิน พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณใกล้น้ำตกมีความร่มรื่น ถูกปกคลุมด้วยกิ่งใบของพันธุ์ไม้นานาชนิดซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น อยู่บริเวณปากหล่อ ใช้เส้นทางสายโคกโพธิ์–ยะลา
น้ำตกพระไม้ไผ่ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ตกจากผาหินกว้างสูงประมาณ 10 เมตร ซอกซอนไปตามโขดหินจนถึงลานหินแกรนิตขนาดใหญ่ จากนั้นสายน้ำจะแผ่กว้างออกแล้วไหลลงสู่ลำธารเบื้องล่างซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเทพาในที่สุด บริเวณน้ำตกมีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านโหนดร่วมใจกันสร้างไว้ นามว่า “พระเวฬุวัน” น้ำตกพระไม้ไผ่อยู่ห่างจากน้ำตกทรายขาว 12 กม. ใช้เส้นทางสายทรายขาว-สะบ้าย้อย มีทางแยกที่บ้านโหนดเข้าสู่น้ำตก
น้ำตกอรัญวาริน
มี 6 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นผาหินสูง 30 เมตร สายน้ำตกลงมาตามโขดหินลดหลั่นกันลงสู่แอ่งน้ำตกเบื้องล่าง น้ำตกอรัญวารินอยู่ในเขต อ.โคกโพธิ์ กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ.ปัตตานี
สิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
รถยนต์ สู่ที่ว่าการอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ซึ่งตั้งบริเวณตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ตำบลทรายขาว,อ. โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี 94120 โทรศัพท์ : (6673) 339138

เทศกาลงานประเพณี
ประเพณีชักพระ เป็นพิธีรำลึกถึงวันรับเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับจากจำพรรษา และแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ครั้งพุทธกาล ต่อมาจึงได้กลายเป็นประเพณีกระทำกันทุกปี โดยพุทธศาสนิกชนในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์และใกล้เคียงจะชักลากเรือพระ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามจากวัดต่างๆ ผู้ร่วมขบวนจะแต่งกายอย่างงดงาม มีการฟ้อนรำหน้าเรือพระ มีการนมัสการเรือพระพร้อมกับถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณร ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอ และมีงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา ๕ วัน ๕ คืน
งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นงานประเพณีที่ทำกันทุกปี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติของจีน คือหลังวันตรุษจีน ๑๕ วันของทุกปี (หรือตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๓ ตามจันทรคติของไทย) มีการสมโภชแห่แหนรูปสลักไม้มะม่วงหิมพานต์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและรูปพระอื่นๆ โดยอัญเชิญออกจากศาลมาประทับบนเกี้ยว ตามด้วยขบวนแห่ต่างๆ มีการลุยไฟและแสดงอภินิหารต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ โดยผู้ร่วมพิธีจะต้องถือศีลกินเจอย่างน้อย ๗ วันก่อนทำพิธี ในงานนี้จะมีชาวปัตตานีและชาวจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก มีการเซ่นไหว้และเฉลิมฉลองกันเป็นที่สนุกสนาน
งานแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรี จะจัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่บริเวณชายหาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี กีฬาตกปลาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และจากสภาพภูมิศาสตร์ของหาดที่มีชายฝั่งทะเลยาวเหยียด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาชนิด จึงทำให้กีฬาตกปลานี้เป็นกีฬาที่น่าตื่นเต้นท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ปัตตานีมีสินค้าพื้นเมืองที่น่าสนใจมากมาย เช่น ปลาหมึกแห้ง น้ำบูดู ข้าวเกรียบปลา ลูกหยีกวน เครื่องทองเหลือง ผ้าปาเต๊ะ เป็นต้น
ปลาหมึกแห้ง ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานีมาจากอำเภอปะนาเระ เป็นปลาหมึกตัวโตขาวใส รสชาติดี ไม่เค็มจัด
น้ำบูดู เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำข้าวยำ ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองภาคใต้ น้ำบูดูจากอำเภอสายบุรีถือว่าเป็นน้ำบูดูที่ดี อร่อยและเก็บไว้ได้นาน
ข้าวเกรียบปลา เป็นของพื้นเมืองที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของอำเภอสายบุรี อร่อยไม่แพ้ข้าวเกรียบกุ้ง และไม่คาว
ลูกหยีกวน ของอำเภอยะรัง เป็นลูกหยีกวนชนิดไม่มีเมล็ด รสกลมกล่อม แปรรูปเป็นลูกหยีฉาบน้ำตาล ลูกหยีกวน ลูกหยีแก้ว ลูกหยีคลุกน้ำปลาหวาน
เครื่องทองเหลือง ประเภทถาดชนิดต่างๆ ที่มีการฉลุลาย ขันและภาชนะทองเหลืองแบบต่างๆ มีขายอยู่ที่ถนนปัตตานี
ผ้าปาเต๊ะ และผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะชนิดต่างๆ เช่น ผ้าตัดเสื้อ ผ้าโสร่ง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดหน้า ผ้ารองจาน มีจำหน่ายหน้าตลาดเทศบาล
กรงนกเขาปัตตานี ทำมาจากไม้ไผ่เหลาอย่างสวยงาม มีแบบให้เลือกมากมาย มีแหล่งผลิตอยู่ที่ตลาดปรีกรี หมู่ที่ ๓ ตำบลกระโด อำเภอเมืองปัตตานี
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา เช่น กระเป๋า หมวก ตะกร้า พัด ชุดรับแขกหวายผสมย่านลิเภา ผลิตและจำหน่ายที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ของเรือนจำจังหวัดปัตตานี

0 Responses