จังหวัดสตูล

ตะรุเตา ไก่ดำ จำปาดะ คนใจพระ งามเลิศเชิดสตูล : สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดสตูล
จังหวัดสตูล จังหวัดเล็กๆเงียบสงบ ที่อุดมไปด้วยธรรมชาติป่าเขาอันสมบูรณ์ และรายล้อมไปด้วยหมู่เกาะสวยงามต่างๆ กว่าแปดสิบเกาะที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียง คือ หมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดัง-ราวีและหมู่เกาะเภตรา
• สตูลมีพื้นที่ ๒,๔๗๘ ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินสูง มีที่ราบป่าเขาและห้วยน้ำลำธารทางด้านตะวันออกของพื้นที่ ตอนกลางใกล้ชายทะเลเป็นที่ราบ มีภูเขาและที่ราบลุ่ม ส่วนชายฝั่งทะเลเป็นที่ราบและป่าชายเลนน้ำท่วมถึง มีป่าโกงกางและไม้แสมมาก
• สตูลอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๙๗๓ กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม มีชายฝั่งทะเลยาว ๑๔๔.๘ กิโลเมตร สตูลแบ่งออกเป็น ๖ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และ กิ่งอำเภอมะนัง
อาณาเขต
• ทิศเหนือ ติดอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง และอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
• ทิศตะวันออก ติดอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย
• ทิศใต้ ติดรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย
• ทิศตะวันตก ติดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔ ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๑ ผ่านเข้าเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง จากพัทลุงไปอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ถึงจังหวัดสตูล ระยะทาง ๙๗๓ กิโลเมตร
รถไฟ สามารถ เดินทางไปกับขบวนรถกรุงเทพฯ-ยะลา, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ หรือ กรุงเทพฯ–สุไหงโกลก ลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นต่อรถตู้โดยสารหรือรถโดยสารประจำทางเข้าจังหวัดสตูล ระยะทาง ๙๘ กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๒๐ หรือ เว็บไซต์ www.srt.or.th
รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศ กรุงเทพฯ-สตูล ทุกวัน รถออกที่สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดที่ รถโดยสารปรับอากาศชั้น ๒ โทร. ๐ ๒๔๓๔ ๑๑๙๕-๖ หรือ รถปรับอากาศชั้น ๑ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๙–๒๐๐ หรือ เว็บไซต์ www.transport.co.th
เครื่องบิน สตูลไม่มีสนามบินพานิชย์ สามารถใช้บริการจากสายการบินไทยไปลงที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ หรือสนามบินตรังก็ได้ ที่หาดใหญ่มีเที่ยวบินให้บริการวันละหลายสายการบิน ส่วนที่ตรังมี 2 สายการบินให้บริการนอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินระหว่างหาดใหญ่ไปภูเก็ต วันละ 1 เที่ยวบินให้บริการด้วย สอบถามรายระเอียดได้ที่ การบินไทย โทรศัพท์ 1566 , 0 2628 2000 หรือ เว็บไซต์ www.thaiairways.com
การเดินทางจาก หาดใหญ่ - สตูล
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งหาดใหญ่ มีบริการรถโดยสารธรรมดา ตั้งแต่เวลา ๐๕.๑๕–๑๗.๓๐ น. รถออกทุก ๑๕ นาที และรถโดยสารปรับอากาศตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐–๑๗.๐๐ น. รถออกทุก ๓๐ นาที ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. ๐ ๗๔๗๑ ๑๗๗๙, ๐ ๗๔๗๑ ๑๒๒๙, ๐ ๗๔๗๑ ๑๑๔๙, ๐ ๗๔๗๑ ๑๐๔๙
รถตู้โดยสาร จอดที่ข้างคลีนิคหมอสมโภชน์(ใกล้สถานีรถไฟ) รถจะออกทุก ๔๕ นาที ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐–๑๙.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. ๐ ๗๔๒๔ ๕๖๕๕
การเดินทางจาก หาดใหญ่ - ปากบารา
รถโดยสารประจำทาง รถออกจากสถานีขนส่งหาดใหญ่ตั้งแต่เวลา ๐๖.๒๐-๑๖.๒๐ น. รถจอดบริเวณตรงข้ามหอนาฬิกา ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. ๐ ๗๔๒๔ ๓๗๙๗
รถตู้โดยสาร บริการจอดที่ข้างคลีนิคหมอสมโภชน์(ใกล้สถานีรถไฟ) รถจะออกทุกหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐–๑๘.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. ๐ ๗๔๒๔ ๕๖๕๕
การเดินทางจากอำเภอเมืองสตูลไปยังอำเภอต่างๆ ดังนี้
อำเภอควนโดน ๒๑ กิโลเมตร
อำเภอท่าแพ ๒๘ กิโลเมตร
อำเภอควนกาหลง ๓๒ กิโลเมตร
อำเภอละงู ๕๐ กิโลเมตร
อำเภอทุ่งหว้า ๗๖ กิโลเมตร
การเดินทางจากจังหวัดสตูลไปยังจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
จังหวัดสงขลา ๑๒๕ กิโลเมตร
จังหวัดพัทลุง ๑๓๔ กิโลเมตร
จังหวัดตรัง ๑๔๐ กิโลเมตร


แผนที่จังหวัดสตูล


แผนที่ตัวเมืองสตูล


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
มัสยิดกลางจังหวัดสตูล หรือ มัสยิดมำบัง ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนบุรีวานิช และถนนสตูลธานี กลางเมืองสตูล เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ลักษณะรูปทรงมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตัวอาคารสีขาวตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อนและกระจกใส ตัวอาคารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนนอก เป็นระเบียง มีบันไดขึ้นหอคอย ลักษณะเป็นยอดโดม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ ส่วนใน เป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นล่างมีห้องใต้ดิน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล คฤหาสถ์กูเด็น ตั้งอยู่ถนนสตูลธานีซอย ๕ ตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล สร้างเมื่อพ.ศ.
๒๔๔๑ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๕๙ โดย พระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (ชื่อเดิม กูเด็น บินกูแม๊ะ) เจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คฤหาสถ์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่ไม่ได้ประทับแรม เคยใช้เป็นบ้านพักและศาลาว่าการเมืองสตูล จนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวปีพ.ศ. ๒๔๘๔ อาคารหลังนี้ใช้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสตูล และเป็นสถานที่สำคัญทางราชการ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๓ กรมศิลปากรได้ปรับปรุงคฤหาสถ์กูเด็น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น เป็นตึกแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆเป็นเกล็ดแนวนอน ช่องลมด้านบนตกแต่งรูปดาวตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม
ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองสตูล วิถีชีวิตของชาวสตูลในด้านต่างๆ เช่น ชีวิตของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ การปั้นหม้อ ห้องบ้านเจ้าเมืองสตูล ห้องวัฒนธรรมชาวไทยมุสลิม ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐–๑๖.๐๐ น. โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๓๑๔๐
สวนสาธารณะเขาโต๊ะพญาวัง อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสตูล ถนนคูหาประเวศน์ เป็นสวนสาธารณะที่มีบรรยากาศแตกต่างจากสวนสาธารณะทั่วไปตรงที่ตั้งอยู่ติดภูเขาหินปูน จึงให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในบรรยากาศถ้ำมากกว่าสวนสาธารณะโล่ง นอกจากนี้มีลำคลองไหลผ่านข้างสวน ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์จึงเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีร้านอาหารอยู่บริเวณใกล้ๆ
วัดชนาธิปเฉลิม ตั้งอยู่ที่ถนนศุลกานุกูล ตำบลพิมาน เดิมชื่อ วัดมำบัง เป็นวัดแห่งแรกของเมืองสตูล สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนาธิปเฉลิมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ชาวเมืองสตูลส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นที่รวมน้ำใจของชาวพุทธศาสนามาร่วม ๑๐๐ กว่าปี พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๗๓ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป คือ เป็นอาคารทรง ๒ ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูล ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล โรงเรียนสตูลวิทยา ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอบถาม รายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๗๔๗๑ ๑๙๙๖
แหลมตันหยงโปและหาดทรายยาว อยู่ทางปากอ่าวสตูล ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๑ (เส้นทางไปท่าเรือเจ๊ะบิลัง) ประมาณ ๘ กิโลเมตร จะมีทางแยกไปยังบ้านตันหยงโปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นล้ำไปในทะเลอันดามัน เป็นพื้นที่หมู่บ้านชาวประมง ชายหาดเต็มไปด้วยต้นมะพร้าวและบ้านเรือนชาวบ้าน จะพบเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของชาวประมงและการ ตากของทะเลริมหาด
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา ๒๒ กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ ๑,๔๙๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน ๕๑ เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ ๗ เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็น ๒ หมู่เกาะใหญ่ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๗ และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

เกาะตะรุเตา นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอุทยาน มีพื้นที่ ๑๕๒ ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นซึ่งยังมีพรรณไม้และ สัตว์ป่าที่น่าสนใจจำนวนไม่น้อย และ มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีอ่าวน้อยใหญ่ที่มีชายหาดสวยงามอยู่หลายแห่ง และในท้องทะเลของเกาะตะรุเตายังมีพันธุ์ปลามากมายหลายชนิดรวมทั้งเต่าทะเล ที่ใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด
คำว่า “ตะรุเตา” นี้ เพี้ยนมาจาก คำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก นอกจากสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะตะรุเตายังมีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ โดยในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่ กักกัน นักโทษ เกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง เต็มไปด้วยปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการหลบหนี ็ได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมดังกล่าว มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอน นักโทษ โรงฝึกอาชีพขึ้นที่อ่าวตะโละวาว และอ่าวตะโละอุดัง ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ นักโทษชุดแรกจำนวน ๕๐๐ คนก็ได้เดินทางมายังตะรุเตาและทยอยเข้ามาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๒ รัฐบาลได้ส่งนักโทษ การเมือง ๗๐ คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มากักบริเวณที่อ่าวตะโละอุดัง ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อุบัติขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงได้ออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำ บริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้า ล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมลายูอยู่ในขณะนั้นได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการส่ง กองกำลังเข้าปราบปรามโจรสลัดตะรุเตาจนสำเร็จ ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา และหลังจากนั้นเกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลา ๒๖ ปี จนกระทั่งวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๗ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาขึ้นโดยนับเป็นอุทยานแห่ง ชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย
สถานที่น่าสนใจบนเกาะตะรุเตา
อ่าวพันเตมะละกา มีชายหาดยาวขาวสะอาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนหนึ่งจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของ เกาะตะรุเตา อ่าวพันเตมะละกายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม และจากอ่าวพันเตมะละกา ยังสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบู ได้อีกด้วย
อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็กๆติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา
อ่าวเมาะและ มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม
อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ๘ กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับ หาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล
อ่าวตะโละวาว อยู่ทิศตะวันออกของเกาะ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.๑ (ตะโละวาว) พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษกักกันและนักโทษอุกฉกรรจ์ ปัจจุบัน ทางอุทยานฯได้จำลองอาคารสถานที่ที่เคยอยู่ในนิคมฝึกอาชีพ เช่น บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนของนักโทษ โรงฝึกอาชีพ ไว้ในบริเวณดังกล่าว
อ่าวตะโละอุดัง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี ๘ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ ตต.๒ (ตะโละอุดัง) อดีตเป็นที่กักกันนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ
น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งจากบริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู
ถ้ำจระเข้ เป็น ถ้ำที่มีความลึกประมาณ ๓๐๐ เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วยป่าชายเลนที่มี ไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลาล่องเรือประมาณ ๑๕ นาทีและใช้เวลาชมถ้ำประมาณหนึ่ง ชั่วโมง ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย
จุดชมวิว “ผาโต๊ะบู” สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๖๐ เมตร อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็นจุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด อ่าวพันเตมะละกา จะเห็นเกาะบุโหลน เกาะกลาง เกาะไข่ เกาะอาดัง เกาะราวี หมู่เกาะเภตรา ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ ๒๐ นาที
กิจกรรมบนเกาะตะรุเตา
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จากที่ทำการอุทยานฯ บริเวณอ่าวพันมะละกามีเส้นทางเดินเท้า ผ่านป่าดงดิบไปอ่าวตะโละวาว ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร สองข้างทางสภาพเป็นป่าดงดิบหนาทึบ ร่มรื่นด้วยไม้นานาพรรณ มีสัตว์ป่า เช่น หมูป่า กระจง และนกน่าสนใจหลายชนิด โดยเฉพาะ นกเงือกที่พบได้บ่อย
อีกเส้นทางหนึ่งไปอ่าวจาก อ่าวเมาะและจนถึงอ่าวสน ระยะทาง ๘ กิโลเมตร ใช้เวลา ประมาณ ๒ ชั่วโมงจะผ่านป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ และยังเหมาะแก่การดูนกเช่นนกเงือก นกแซงแซว
เส้นทางล่องเรือรอบเกาะ เพื่อศึกษาธรรมชาติแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยอุทยานฯจะจัดเรือบริการพร้อมเจ้าหน้าที่นำทางชมหาดทรายต่าง ๆ เริ่มจากแวะดูนกที่อ่าวจากชมหาดทรายขาวและยาวที่สุดบนเกาะตะรุเตาที่อ่าวสน ศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ที่อ่าวตะโละอุดัง ชมธรรมชาติที่อ่าวตะโละวาว แวะดำน้ำและเที่ยวป่าชายเลน ใช้เวลาในการล่องเรือ ๑ วัน ผู้สนใจติดติดได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะ
ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ โทร. ๐ ๒๕๖๑ ๒๙๑๘-๒๑ หรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ๙๑๑๑๐ โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๓๔๘๕ หรือหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.1 (อ่าวพันเตมะละกา) บนเกาะตะรุเตา โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๙๐๐๒-๓, ๐ ๗๔๗๑ ๒๔๒๕
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ท่าเรือปากบารา อยู่ห่างจากอำเภอละงูประมาณ ๘ กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ปากคลองละงู ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้เกาะตะรุเตามากที่สุด ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร และใกล้ท่าเรือเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา
สตูล-ท่าเรือปากบารา จาก อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราได้ดังนี้
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑๖ (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๒ ซึ่งแยกจาก อ.ละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา
รถโดยสาร มีรถแท็กซี่โดยสารสายสตูล-ปากบารา ออกจากตัวเมืองสตูล บริเวณข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาสตูล วิ่งบริการวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวและรถตู้ วิ่งบริการจากบริเวณตัวเมืองด้วย
อำเภอหาดใหญ่-ท่าเรือปากบารา จากอำเภอหาดใหญ่ สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราได้ดังนี้
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ถึงบ้านฉลุง จังหวัดสตูล แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑๖ (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๔๐๕๒ ซึ่งแยกจาก อำเภอละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา
รถโดยสารประจำทาง รถออกจากสถานีขนส่งหาดใหญ่ตั้งแต่เวลา ๐๖.๒๐-๑๖.๒๐ น. รถจอดบริเวณตรงข้ามหอนาฬิกา ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. ๐ ๗๔๒๔ ๓๗๙๗
รถตู้โดยสาร จอดที่ข้างคลีนิคหมอสมโภชน์(ใกล้สถานีรถไฟ) รถจะออกทุกหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐–๑๘.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. ๐ ๗๔๒๔ ๕๖๕๕
ท่าเรือปากบารา-อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวตะรุเตาราวเดือนพฤศจิกายน-เมษายน มีบริการเรือโดยสารสู่
เกาะต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ท่าเรือปากบารา-ตะรุเตา บริการทุกวัน ค่าเรือโดยสารไป-กลับ คนละ ๓๐๐ บาท เที่ยวไป ๑๐.๓๐ และ ๑๕.๐๐ น. เที่ยวกลับ ๐๙.๐๐ และ ๑๓.๐๐ น.
ระยะทางจากท่าเรือ-เกาะต่างๆ
ท่าเรือปากบารา - อ่าวพันเตมะละกา (เกาะตะรุเตา) ๒๒ กิโลเมตร
ท่าเรือปากบารา- เกาะอาดัง ๘๐ กิโลเมตร
ท่าเรือปากบารา - เกาะหลีเป๊ะ ๘๒ กิโลเมตร
เกาะตะรุเตา - หมู่เกาะอาดัง-ราวี ๔๐ กิโลเมตร
เกาะตะรุเตา - เกาะหลีเป๊ะ ๔๐ กิโลเมตร
เกาะตะรุเตา - เกาะไข่ ๑๔.๕ กิโลเมตร
เกาะอาดัง - เกาะหลีเป๊ะ ๒ กิโลเมตร
เกาะอาดัง - เกาะหินงาม ๒.๕ กิโลเมตร
เกาะอาดัง - เกาะไข่ ๑๗ กิโลเมตร
เกาะไข่ เกาะไข่อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ ๔๐ นาที สิ่งที่มีชื่อเสียงบนเกาะไข่ ได้แก่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทะเลรอบๆ เกาะไข่มีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไป ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะ เรือโดยสาร จากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะหลีเป๊ะ มักจะวิ่งผ่านเกาะไข่ซึ่งอยู่ระหว่างทาง
หมู่เกาะอาดัง-ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๔๐ กิโลเมตร หรือห่างจาก ตัวเมืองสตูล ๖๐ กิโลเมตร หมู่เกาะอาดัง-ราวี นอกจากจะประกอบด้วยเกาะอาดัง และเกาะราวี ซึ่งเป็นชื่อ ของหมู่เกาะแล้ว ยังมีเกาะบริวารน้อยใหญ่เช่นเกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดง เกาะหินซ้อน เกาะจาบัง เป็นต้น
เกาะอาดัง คำว่า “อาดัง” มาจากคำเดิมในภาษามลายูว่า “อุดัง” มีความหมายว่า “กุ้ง” เพราะบริเวณนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งทะเล เกาะอาดังเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยาน แห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.๕ (แหลมสน-เกาะอาดัง) เกาะอาดัง มีเนื้อที่เกาะประมาณ ๓๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่มีหาดทรายละเอียดสวยงาม รอบเกาะมีเกาะเล็กๆ หลายเกาะ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะดง เกาะหินงาม และเกาะยาง เป็นเกาะที่เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้น ภูมิประเทศโดยทั่วไป
เป็นภูเขาสูง มีป่าปกคลุมดูเขียวครึ้ม มีน้ำตกที่มีน้ำตลอดปี คือน้ำตกโจรสลัด บนเกาะอาดังยังมีจุดชมวิว “ผาชะโด” ในอดีตเคยเป็นจุดสังเกตการณ์ของโจรสลัดเพื่อเข้าโจมตีเรือสินค้า ปัจจุบันเป็นจุดชมทิวทัศน์สวยงามที่ใช้เวลาเดินขึ้น ๔๐ นาที บนผาชะโดเป็นลานโล่ง มองลงไปจะเห็นทิวสนและแหลมทรายสีขาวของเกาะอาดัง มองเห็นเกาะหลีเป๊ะ และยังเป็นจุดชม
พระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ด้วย
สำหรับการค้างแรมบนเกาะอาดัง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ โทร. ๐ ๒๕๖๑ ๒๙๑๘-๒๑ หรือ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๓๔๘๕ หรือ หน่วย พิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.๕ (แหลมสน-เกาะอาดัง)โทร. ๐ ๗๔๗๑ ๒๔๐๙, ๐ ๗๔๗๒ ๘๐๒๘-๙
เกาะราวี อยู่ห่างจากเกาะอาดังเพียงหนึ่งกิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๙ ตารางกิโลเมตร เกาะราวีมี หาดทรายสวยงาม น้ำทะเลใส เงียบสงบ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ฯที่ ต.ต.๖ (หาดทรายขาว) บนเกาะไม่มีที่พัก นักท่องเที่ยวนิยมแวะที่เกาะราวีเพื่อเล่นน้ำและดำน้ำดูปะการัง
เกาะสิเป๊ะหรือเกาะหลีเป๊ะ เกาะนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอาดัง ๒ กิโลเมตร มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๒ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ชาวบ้านที่มีเชื้อสายชาวเลจะมารวมกันที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อจะจัดงานรื่นเริง และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือ ด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมง จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ เวิ้งอ่าวสวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง และอ่าวที่สวยงามคือ อ่าวพัทยา ซึ่งมีลักษณะโค้งเว้า ทรายขาวละเอียด และหาดชาวเล ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที ทั้งสองหาดมีที่พักเอกชนคอยบริการนักท่องเที่ยว
เกาะหินงาม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง เป็นเกาะขนาดเล็ก ชายหาดมีหินกรวดสีดำรูปร่างต่างๆ มีลักษณะกลมเกลี้ยง ลวดลายสวยงาม บนเกาะมีป้ายเตือนเกี่ยวกับคำสาปเจ้าพ่อตะรุเตา “ ผู้ใดบังอาจ เก็บหินงามจากเกาะนี้ไป ผู้นั้นจะถึงซึ่งความหายนะนานานับประการ ”
เกาะยาง หรือเกาะกาต๊ะ เป็นเกาะเล็กๆอยู่ไม่ไกลจากเกาะอาดัง น้ำทะเลใสและ มีแหล่งปะการังแข็ง ที่ สวยงาม เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังผักกาด ปะการังสมอง บนเกาะมีชายหาดที่มีทรายละเอียด
เกาะจาบัง เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ห่างจากเกาะอาดังราว 20 นาที บริเวณก้อนหินใต้น้ำรอบๆ เกาะจาบังเป็นแหล่งปะการังอ่อน ดอกไม้ทะเล และฝูงปลาที่มีสีสันสวยงาม ระดับน้ำลึกราว 15-30 ฟุต ของกองหินบริเวณนี้ ทำให้เหมาะแก่การดำน้ำตื้นในลักษณะการดำผิวน้ำ และสามารถดำน้ำลึกได้
หมู่เกาะดง เกาะดงเป็นเกาะที่อยู่นอกสุดของหมู่เกาะอาดัง ราวี ห่างจากเกาะอาดังราว 1 ชั่วโมง มีแหล่งปะการังน้ำตื้น และปะการังน้ำลึก เกาะดงยังมีเกาะบริวารอยู่โดยรอบราว 4-5 เกาะ โดยมีเกาะหินซ้อนที่มีลักษณะโดดเด่นเหมือนก้อนหินที่วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ
การเดินทางสู่หมู่เกาะอาดัง ราวี
ท่าเรือปากบารา-อาดัง-หลีเป๊ะ เรือจะออกจากท่าเรือปากบารา เวลา ๑๐.๓๐ น. และจะแวะที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาก่อน
หลังจากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ เรือจะกลับจากเกาะหลีเป๊ะ เวลา ๐๙.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ค่าเรือไป-กลับ คนละ ๘๐๐ บาท
จากเกาะตะรุเตา - ไปเกาะอาดัง เที่ยวไป เวลา ๑๓.๐๐ น. เที่ยวกลับ เวลา ๐๙.๐๐ น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารไป - กลับ ๕๐๐ บาท
สำหรับการท่องเที่ยวไปตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะอาดังราวีนั้น สามารถเช่าเรือหางยาวได้ที่เกาะหลีเป๊ะ
การท่องเที่ยวหมู่เกาะลังกาวี
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย สามารถลงเรือได้ที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสตูล ๙ กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเที่ยวไปเช้า-กลับเย็น สอบถามรายละเอียดที่บริษัทไทย เฟอร์รี่ เซ็นเตอร์ จำกัดโทร. ๐ ๗๔๗๓ ๐๕๑๑-๓ โทรสาร ๐ ๗๔๗๓ ๐๕๑๓ โทรสาร ๐ ๗๔๗๑ ๑๗๘๒ หรือ บริษัท สตูลทราเวลแอนด์เฟอร์รี่ เซอร์วิส จำกัด โทร. ๐ ๗๔๗๑ ๑๔๕๓, ๐ ๗๔๗๒ ๑๙๖๐, ๐ ๗๔๗๓ ๒๔๐๙, ๐ ๗๔๗๓ ๒๔๑๐

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.ควนโดน อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า อ.ควนกาหลง จังหวัดสตูล

อำเภอควนโดน
ถ้ำลอดปูยู (ปูยู แปลว่า ปลาหมอ) อยู่ที่เขากาหยัง ตำบลปูยู ห่างจากตัวจังหวัด ๑๕ กิโลเมตร เป็นถ้ำลอดลักษณะคล้ายกับถ้ำลอดที่อ่าวพังงา มีคลองท่าจีนไหลผ่านถ้ำ สองฝั่งของคลองเป็น ป่าโกงกางตลอดแนว ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยบ้าง ใกล้ถ้ำลอดจะมีถ้ำอีกแห่งหนึ่งมีหินงอก หินย้อยที่สวยงามและมีค้างคาวอาศัยอยู่ ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ ๒ ชั่วโมง
การเดินทาง สามารถเช่าเรือหางยาวจากท่าเรือตำมะลังและท่าเทียบเรือประมงสตูล ของ องค์การสะพานปลา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง ๙ กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๓ กิโลเมตรที่ ๕-๖
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ที่บ้านวังประจัน ตำบลวังประจัน อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๔๐ กิโลเมตร อุทยานฯ มีเนื้อที่ ๑๒๒,๕๐๐ ไร่ โดยรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุปังปุโต๊ะและหัวกะหมิงและพื้นที่ป่าควนบ่อ น้ำปูยู ในท้องที่ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมือง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๓
คำว่า “ทะเลบัน” มาจากคำว่า “เลิด เรอบัน” เป็นภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบหรือทะเลอันเกิดจากการ ยุบตัวของแผ่นดิน อุทยานแห่งชาติทะเลบันเกิดจากการยุบตัวของพื้นดินระหว่างเขาจีนและเขามดแดง เป็น หนองน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ ๖๓,๓๕๐ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น เลียงผา ช้าง สมเสร็จ หมูป่า ลิง ชะนี และ “เขียดว๊าก” (หมาน้ำ) ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งบึงทะเลบัน รูปร่างคล้ายกบและคางคก แต่มีหาง ส่งเสียงร้องคล้าย ลูกสุนัข จะมีชุกชุมตามริมบึงโดยเฉพาะในฤดูฝน สำหรับผู้ชื่นชมการดูนกก็ไม่ควรพลาด เพราะมีนกหลายชนิดให้ดู เช่น นกแอ่นฟ้าเคราขาว นกปรอดคอลาย นกกางเขนน้ำหลังแดง นกหัวขวาน เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
บึงทะเลบัน เป็น บึงน้ำจืดขนาดใหญ่กลางหุบเขา ขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๕ ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงจะมี “ต้นบากง” ขึ้นอยู่หนาแน่น ทางอุทยานฯได้สร้างศาลาท่าน้ำไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนและมีทาง เดินไม้รอบบึง
น้ำตกยาโรย เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำในป่าหัวกระหมิง มี ๙ ชั้น แต่ละชั้นเป็นแอ่ง สามารถเล่นน้ำได้ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๔๘ (สายควนสตอ-วังประจัน) กิโลเมตรที่ ๑๔–๑๕ ประมาณ ๖ กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก ๗๐๐ เมตร
น้ำตกโตนปลิว มีต้นน้ำมาจากภูเขาจีน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีหลายชั้น ไหลจากหน้าผาสูง สวยงามมาก การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข ๔๑๘๔ (สายควนสตอ-วังประจัน) กิโลเมตรที่ ๙–๑๐ หรือห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะมีทางลูกรังแยกไปอีก ๓ กิโลเมตร
อุทยานฯ มีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อ.ควนโดน จ.สตูล ๙๑๑๖๐ โทร. ๐ ๗๔๗๙ ๗๐๗๒-๓ , ๐ ๗๔๗๒ ๙๒๐๒-๓
การเดินทาง ไปอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร ถึงสามแยกควนโดนซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าอุทยานเลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๔ ไปอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารประจำทาง (หาดใหญ่-สตูล) ขึ้นที่หน้าหอนาฬิกา ลงที่สามแยกควนสะตอ ต่อรถสองแถวเล็ก สายสตูล-วังประจัน รถออกชั่วโมงละ ๑ คัน
เขตชายแดนไทย-มาเลเซีย (ด่านวังประจัน) อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง ๒ กิโลเมตร บริเวณเขตแดนมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ตั้งอยู่ หากเดินทางต่อไปอีกประมาณ ๒๓ กิโลเมตร ก็จะถึง ปาดังเบซาร์ ซึ่งมีสินค้าราคาถูกจำหน่าย หรือหากต้องการไปยังเมืองกางะ เมืองหลวงของรัฐเปอร์ลิส ก็สามารถไปได้เพียงเดินทางไปอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น ด่านนี้เปิดตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๙.๐๐ น. และจะมีตลาดนัดทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.๐ ๗๔๗๒ ๒๗๓๐-๑
การเดินทาง จากตัวเมืองสตูลใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ ระยะทาง ๑๙ กิโลเมตร มีทางแยกขวา ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๔ กม.ที่ ๖๑-๖๒ ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร หรือ นั่งรถสองแถวสตูล -วังประจัน รถจอดที่หน้าโรงแรมแหลมทอง หรือขึ้นรถสตูล-เขตแดน ที่บริเวณสามแยกควนสะตอ โดยจะมีรถออกทุกชั่วโมง

อำเภอละงู
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกทางใต้ของไทย บริเวณ ช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน เกาะเภตรามีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้ง บนบกและทะเล ประมาณ ๔๙๔.๓๘ ตารางกิโลเมตร ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๗ อุทยานฯ นี้มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า ปะการังหลากสีสวยงาม ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญต่างๆ คือ เกาะเภตรา เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ
สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
อ่าวนุ่น เป็นที่ตั้งของที่ทำการฯ อุทยานฯ อยู่บนโค้งเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่มีบรรยากาศเงียบสงบ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและบ้านพัก
หาดราไว เป็นชายหาด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ และ ๔ ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า เข้าตรงทางแยกบ้านวังตง มีต้นสนอยู่ตลอดแนวชายหาด มีภูมิทัศน์ที่เหมาะสำหรับตั้งค่ายพักแรม
เกาะลิดีเล็ก อยู่ห่างจากที่ทำการฯ (อ่าวนุ่น) ประมาณ ๕ กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ฯ บนเกาะมีชายหาดทรายขาว น้ำใสเหมาะจะเล่นน้ำ พักผ่อน ด้านข้างของเกาะมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มีสัตว์น้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวที่จะพักบนเกาะ ต้องนำเต็นท์และอาหารมาเอง เพราะยังไม่มีร้านอาหารบริการ ส่วนเกาะลิดีใหญ่ ซึ่งอยู่ข้างเกาะลิดีเล็ก เป็นเกาะสัมปทานรังนกนางแอ่น สนใจติดต่อเช่าเรือได้ที่ ที่ทำการอุทยานฯ ค่าเช่าเรือประมาณ ๗๐๐ บาท
เกาะบุโหลน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราประมาณ ๒๒ กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใสสวยเล่นน้ำได้ มีจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกกระจายอยู่หลายจุด เช่น เกาะอายำและเกาะหินขาว ยามค่ำคืนบริเวณชายหาดมีปูเสฉวน ปูลม ให้ดู และยังเป็นจุดดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงามจุดหนึ่งด้วย
การเดินทาง จากจังหวัดสตูลไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่ทำการอุทยานฯ ห่างจากตัวจังหวัด ๕๖ กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่เรียกว่า “อ่าวนุ่น” ก่อนถึงท่าเรือปากบาราประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๑๖ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๖-๗ ให้แยกซ้ายเข้าไปอีก ๑.๔ กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอละงู ๗ กิโลเมตร สำหรับการเดินทางไปยังเกาะต่างๆ ในเขตอุทยานฯ นั้น สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าเรือ ปากบารา สำหรับผู้ที่จะไปเกาะบุโหลนมีเรือโดยสารไปเกาะบุโหลนทุกวัน เที่ยวไปออกจากท่าเรือ ปากบารา ๑๔.๐๐ น. เที่ยวกลับออกจากเกาะบุโหลน เวลา ๐๙.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ค่าโดยสาร ไปกลับคนละ ๒๔๐ บาท ส่วนเกาะลิดีไม่มีเรือเมล์วิ่ง ต้องติดต่อเช่าเหมาเรือที่ท่าเรือปากบารา
สอบถามรายละเอียดชมรมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวท่าเรือปากบารา โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๑๕๓๒ ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพัก และสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถาม รายละเอียดได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา (อ่าวนุ่น) ๒๙๘ หมู่ ๔ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ๙๑๑๑๐ โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๓๐๐๘ (ผู้ที่จองจะต้องมาติดต่อที่อุทยานฯ
ด้วยตนเอง หรือมีหนังสือแจ้งล่วงหน้า)
น้ำตกวังสายทอง อยู่ริมถนน ร.พ.ช. สายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอง ทางหลวงหมายเลข ๔๑๓๗ สามารถเดินทางได้ ๒ ทาง คือ ทางอำเภอละงู ตรงทางแยกจากถนนสายสตูล-ละงู ที่สามแยก บ้านโกตา ตำบลกำแพง จากจุดนี้ถึงน้ำตก ระยะทางประมาณ ๒๖ กิโลเมตร อีกทางหนึ่ง คือ ทางอำเภอทุ่งหว้า ตรงสามแยกสะพานวา ตำบลป่าแก่บ่อหิน ระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร ความงาม
ของน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่แอ่งน้ำแต่ละชั้นจับหินปูน ลักษณะคล้ายดอกบัวบานซ้อนลดหลั่นกันในแอ่งที่สวยงาม บริเวณน้ำตกมีต้นไม้ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

อำเภอทุ่งหว้า
น้ำตกธารปลิว อยู่หมู่ ๗ ตำบลทุ่งหว้า ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๑๔ กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีต้นน้ำเกิดจากเขาลุงเครอะ ในเขตจังหวัดตรัง-สตูล มี ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร รอบ ๆ บริเวณร่มรื่นด้วยพรรณไม้หลากหลาย
การเดินทางจากถนนสายทุ่งหว้า-ปะเหลียน แยกตรงกิโลเมตรที่ ๓๕ ไปบ้านทุ่งยาวนุ้ย ตำบลทุ่งหว้า ระยะทางจากทางแยก เข้าไปประมาณ ๘ กิโลเมตร

อำเภอควนกาหลง
วนอุทยานน้ำตกธาราสวรรค์ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขาหมาไม่หยก” จัดตั้งเป็น วนอุทยานโดยกรมป่าไม้เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เป็นเขตที่มีฝนตกชุกค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดป่าดงดิบความสมบูรณ์ ภายในวนอุทยานสามารถเที่ยวชมน้ำตกที่มีความสวยงาม ประกอบด้วย ๓ ชั้น ชั้นแรกได้แก่ น้ำตกโตนต่ำ ชั้นที่สองได้แก่ น้ำตกสายฝน ชั้นที่สาม ได้แก่ น้ำตกสอยดาว ห่างจากที่ว่าการอำเภอควนกาหลง ๑๒ กิโลเมตร มีสถานที่สำหรับกางเต็นท์
พักแรมและบ้านพักไว้บริการ ๕ หลัง ติดต่อฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สำนักงานป่าไม้ เขตสาม โทร. ๐ ๗๔๓๑ ๒๑๑๗ ต่อ ๔๒๕๑-๔, ๐ ๗๔๓๑ ๑๐๒๐
การเดินทางจากสามแยกนิคมฯ ผ่านที่ว่าการอำเภอควนกาหลงแยกเข้าทางซอย ๑๐ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๖ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑๓๗ มีป้ายบอกทางไปอีก ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
น้ำตกปาหนัน อยู่ตำบลทุ่งนุ้ย ห่างจากตัวเมืองสตูล ๓๙ กิโลเมตร มีต้นน้ำมาจาก ภูเขากะหมิง ธรรมชาติรอบ ๆ น้ำตกยังสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดปี แต่บริเวณน้ำตกมีการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดย่อม

งานประเพณีแข่งว่าวนานาชาติ จัดขึ้นทุกปีประมาณเดือนกุมภาพันธ์
งานตะรุเตา อาดัง ฟิชชิ่ง คลับ เป็นงานตกปลาที่จัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี
งานเทศกาลท่องเที่ยวทางทะเลจังหวัดสตูล จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคม เพื่อเป็นการเริ่มเปิดฤดูกาล ท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดสตูล นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน
ประเพณีลอยเรือ จัดขึ้นในหมู่ของชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะในจังหวัดสตูล ในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ทุกปี เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลและเสี่ยงทายอนาคตของการประกอบอาชีพ


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๑๓๗๕
สำนักงานจังหวัดสตูล โทร. ๐ ๗๔๗๑ ๑๐๕๕
เทศบาลตำบลกำแพงอำเภอละงู โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๑๓๘๒, ๐ ๗๔๗๘ ๑๓๓๘
โรงพยาบาลจังหวัดสตูล โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๓๕๐๐-๑
โรงพยาบาลทุ่งหว้า โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๙๐๑๕
โรงพยาบาลควนกาหลง โทร. ๐ ๗๔๗๒ ๑๓๘๑
โรงพยาบาลละงู โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๐๒๒๔
โรงพยาบาลท่าแพ โทร. ๐ ๗๔๗๘ ๗๐๔๐
โรงพยาบาลควนโดน โทร. ๐ ๗๔๗๙ ๕๐๖๖
สถานีตำรวจภูธร โทร. ๐ ๗๔๗๓ ๒๕๐๒-๓
ตำรวจทางหลวง โทร. ๑๑๙๓
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. ๑๑๕๕
สถานีตำรวจน้ำสตูล โทร. ๐ ๗๔๗๑ ๑๐๔๓
ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ใกล้สุเหร่า) โทร. ๐ ๗๔๗๑ ๑๐๘๐
กรมอุตุนิยมวิทยา โทร. ๑๑๘๒


0 Responses